สัมผัสเสน่ห์ชุมชนหมื่นสาร
ตำนานเสือเยน และครูบาศรีวิชัย

  • เดินเล่นในชุมชนเก่าแก่ สัมผัสกลิ่นอายล้านนาแท้ๆ
  • เรียนรู้เรื่องราวผ่านวัดหมื่นสาร โบราณสถานสำคัญคู่บ้านคู่เมือง
  • ค้นหาตำนานเสือเยน ตำนานลี้ลับที่สืบทอดมายาวนาน
  • สักการะอัฐิธาตุครูบาศรีวิชัย ศูนย์รวมศรัทธาของชาวล้านนา
  • ดื่มด่ำกับบรรยากาศร่มรื่นของชุมชนที่เรียบง่ายด้วยมิตรไมตรี

ประวัติและตำนานชุมชนหมื่นสาร

  • 1. ประวัติวัดหมื่นสาร

    วัดหมื่นสารเป็นวัดเก่าแก่วัดหนึ่งในเชียงใหม่ สร้างขึ้นมาในสมัยราชวงศ์มังราย โดยปรากฏหลักฐานว่าสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 1981 ในสมัยพญาสามฝั่งแกน กษัตริย์องค์ที่ 8 แห่งราชวงศ์มังราย วัดหมื่นสารในสมัยราชวงศ์มังรายเป็นวัดที่ถือพุทธศาสนานิกายลังกาวงศ์ และมีความสัมพันธ์กับวัดสวนดอก ในสมัยพระเจ้าติโลกราช กษัตริย์องค์ที่ 9 แห่งราชวงศ์มังราย (พ.ศ. 1984-2030) พบว่าเจ้าอาวาสวัดหมื่นสารเป็นหลานของเจ้าอาวาสวัดสวนดอก และในสมัยพระเจ้าติโลกราชนั้นปรากฏในตำนานมูลศาสนาว่าได้มีการสร้างวิหารวัดหมื่นสารแล้วได้มีการอาราธนาพระพุทธรูปชื่อพระศีลาเจ้าจากวัดป่าแดงมาประดิษฐานที่ในวิหารวัดหมื่นสาร เพื่อความจำเริญรุ่งเรืองในพระพุทธศาสนาต่อไป และต่อมาเมื่อเจ้าอาวาสวัดหมื่นสารชื่อพระพุทธญาณเสียมรณภาพในปี พ.ศ. 2031 พญายอดเมือง กษัตริย์ราชวงศ์มังรายองค์ที่ 10 (พ.ศ. 2030-2038) ได้นิมนต์พระมหาพุกามญาณสา มาดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดหมื่นสารแทน

    ในปี พ.ศ. 2065 สมัยพระเมืองแก้ว กษัตริย์องค์ที่ 11 แห่งราชวงศ์มังราย มีหลักฐานทางเอกสารแสดงให้เห็นว่าวัดหมื่นสารเป็นวัดสำคัญวัดหนึ่งในสมัยราชวงศ์มังราย โดยมี “หมื่นหนังสือ” เป็นผู้สร้างวิหารครั้งแรก และเป็นแหล่งเรียนรู้อักขระที่สำคัญแห่งหนึ่งในสมัยพระเมืองแก้ว ซึ่งได้ใช้เป็นสถานที่แปลราชสาสน์ และในครั้งนั้นคงมีการถวายที่ดินและข้าวัดไว้จำนวนหนึ่งเพื่อดูแลวัด ดังนั้นชุมชนหมื่นสารจึงปรากฏมาตั้งแต่ราชวงศ์มังรายสืบมา

  • 2. ประวัติชุมชนหมื่นสาร

    ในช่วงที่พม่าปกครองเชียงใหม่ (พ.ศ. 2101-2317) ยังไม่พบหลักฐานเกี่ยวกับวัดหมื่นสารหรือคนในชุมชนหมื่นสารเป็นส่วนใหญ่ และคาดว่าได้มีการทำนุบำรุงวัดหมื่นสาร ทั้งนี้เพราะมีร่องรอยศิลปะแบบพม่าที่เจดีย์ของวัด

    จนถึงในช่วงที่เจ้ากาวิละเป็นเจ้าหลวงเมืองเชียงใหม่ (พ.ศ. 2324-2358) ได้ปรากฏเรื่องราวของคนในชุมชนหมื่นสารอย่างชัดเจนว่า ในปี พ.ศ. 2342 ชาวบ้านวัวลายในแถบลุ่มน้ำคงหรือแม่น้ำสาละวินในปัจจุบัน ได้ถูกกวาดต้อนให้มาตั้งบ้านเรือนอยู่ในบริเวณรอบๆวัดหมื่นสาร ต่อมาเจ้าเมืองอังวะได้ยกทัพมายึดเมืองปุ และตั้งเจ้าฟ้าคำเครื่องเป็นเจ้าเมือง พระเจ้ากาวิละได้โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าสุวัณณะคำมูลหลานชายคุมทัพ 300 คน ไปตีเมืองปุ เสร็จแล้วก็ข้ามแม่น้ำคงไปกวาดต้อนผู้คนจากทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำคงเช่นบ้านวัวลายเข้ามาอีกครั้งหนึ่ง และได้นำผู้คนมาตั้งบ้านเรือนในบริเวณวัดหมื่นสาร และเรียกชื่อชุมชนว่า “บ้านงัวลาย” ตามชื่อหมู่บ้านเดิมที่ตั้งอยู่ลุ่มแม่น้ำคง (แม่น้ำสาละวิน) ทำให้เกิดชุมชนบ้านงัวลายตั้งแต่นั้นมา โดยมีวัดหมื่นสารเป็นศูนย์กลางของชุมชน นอกจากนั้นในช่วงประมาณ พ.ศ. 2520 สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้พบคัมภีร์ใบลานของวัดหมื่นสารจำนวน 163 รายการ หรือ 815 ผูก และมีเอกสารใบลานที่ระบุปี จ.ศ.1187 (พ.ศ. 2368) หรือประมาณ 200 ปีที่ผ่านมา (สมโชติ อ๋องสกุล, 2558; อนุ เนินหาด, 2558)

  • 3. ตำนานเสือเยน

    วัดหมื่นสารที่เป็นวัดเก่าแก่ของเมืองเชียงใหม่ เป็นวัดเดียวของเมืองที่มีตำนานเกี่ยวกับเสือเยน หรือเสือสมิง ที่เชื่อกันว่าเกิดจากการเล่นคาถาอาคมเกี่ยวกับเสือ แต่เมื่อแก่ตัวลงทำให้ไม่สามารถควบคุมอาคมไว้ไม่อยู่ทำให้คนๆนั้นกลายเป็นเสือเยน บางตำนานก็เล่าว่าเมื่อเสือที่กินคนเข้าไปมากๆ วิญญาณคนจะเข้าไปสิงในร่างเสือจนสามารถแปลงร่างกลายเป็นคนได้ ดังนั้นเสือเยนจึงเป็นที่หวาดกลัวของคนล้านนาในสมัยนั้น

    ตำนานเกี่ยวกับเสือเยนเล่ากันว่ามีเจ้าอาวาสวัดแห่งหนึ่งที่มีอายุมากแล้ว และเป็นผู้มีอายุมากแล้วและเป็นผู้ได้ร่ำเรียนวิชาอาคมเก่งกล้าอีกทั้งไม่ชอบอาบน้ำ และในวัดนี้มักจะมีเณรและเด็กวัดหายไปเป็นประจำโดยไม่ทราบสาเหตุจึงทำให้วัดเหลือเจ้าอาวาสแต่เพียงผู้เดียว และเมื่อมีพ่อค้าวัวต่างมาพักค้างคืนที่วัดนี้ก็มักจะถูกเสือกิน

    วันหนึ่งมีพ่อค้าวัวต่างมาพักค้างคืนที่วัดนี้ และได้รับคำเตือนจากชาวบ้านให้ระวังเสือแต่พ่อค้าวัวต่างไม่กลัวเพราะถือว่าตนเองก็มีวิชาอาคมเหมือนกัน พอตกดึกพ่อค้าวัวต่าได้ยินเสียงตะโกนถามว่า ‘พ่อออกๆ หลับหรือยัง’ พ่อค้าวัวต่างตอบว่า ‘ยังไม่หลับ’ ในขณะเดียวกันก็เตรียมไม้ไผ่มาจักสานเป็นควายธนู ซึ่งเป็นของขลังชนิดหนึ่ง ทำเป็นรูปตัวควายหรือเขาควาย ใช้เวทมนตร์ทางไสยศาสตร์เสกเป่าไปทำร้ายผู้อื่นหรือกันไม่ให้ผู้อื่นมาทำร้าย

    พอถึงกลางดึกพ่อค้าได้ยินเสือร้องที่หน้าประตูวิหาร จึงรู้ว่าเสือเยนออกล่าเหยื่อแล้ว จึงปล่อยควายธนูออกไปต่อสู้ สัตว์อาคมทั้งคู่คือเสือเยนและควายธนูได้ต่อสู้กันอย่างดุเดือดสักพักใหญ่ หลังจากนั้นได้ยินเสียงเสือร้องอย่างเจ็บปวด พอรุ่งเช้าเมื่อเปิดประตูวิหารจึงพบว่ามีเสือนอนตายอยู่ และที่หลังวิหารก็พบกระดูกคนและสัตว์มากมาย

    บางตำนานเล่าว่าได้มีการประกาศหาคนที่มีวิชาอาคมมาปราบเสือเยน และในที่สุดก็มีพ่อค้าหมูเป็นผู้อาสาปราบเสือเยน โดยได้วางอุบายเข้าไปนอนในโบสถ์ พอตกกลางคืนก็มีเสือเยนมาถามว่าหลับหรือยัง ซึ่งพ่อค้าหมูก็ตอบว่ายังไม่หลับ พร้อมทั้งสานไม้ไผ่เป็นควายธนูและปลุกเสกไปด้วย เสือเยนเวียนมาถามถึงสามรอบ และในรอบที่สามพ่อค้าหมูแกล้งทำเป็นหลับไม่ตอบกลับ เสือเยนจึงเปิดประตูโบสถ์เข้ามาซึ่งพอดีกับพ่อค้าหมูปล่อยควายธนูออกไป ซึ่งควายธนูได้ขวิดเสือเยนจนถึงแก่ความตาย (สมโชติ อ๋องสกุล, 2558)

    ตำนานเรื่องเสือเย็นนี้ชาวบ้านเชื่อกันว่าวัดแห่งนั้นคือวัดหมื่นสาร และในอดีตที่หน้าวัดหมื่นสารมีรูปปั้นเสืออยู่แต่ต่อมาถูกรื้อไป ปัจจุบันที่เจดีย์วัดหมื่นสารจะมีรูปปั้นเสือคาบคนปรากฏให้เห็นอยู่

    ควายธนู เป็นเครื่องรางตามความเชื่อทางไสยศาสตร์ สะท้อนให้เห็นระบบความเชื่อทางไสยศาสตร์ของสังคมเกษตรกรรม ที่มีความผูกพันกับวัฒนธรรมข้าว ซึ่งเลี้ยงวัวควายไว้ใช้งานในด้านการเกษตร วิชาเหล่านี้เป็นการทำหุ่นพยนต์รูปแบบต่างๆ ซึ่งทำได้ทั้งรูปคนและสัตว์ ที่นิยมมีทั้งวัวธนูและควายธนู สามารถสร้างได้หลายวิธี เช่น สานจากไม้ไผ่ ปั้นด้วยดินผสมมวลสาร ปั้นจากขี้ผึ้ง ไปจนถึงหล่อขึ้นด้วยโลหะอาถรรพ์ เชื่อว่าสามารถใช้ให้เฝ้าบ้านหรือไร่นา ใช้งานได้ตามความประสงค์ เพื่อป้องกันภูตผีและโจรผู้ร้าย และสามารถสั่งให้ไป
    สังหารคู่อริได้อีกด้วย

  • 4. อัฐิครูบาศรีวิชัยที่วัดหมื่นสาร

    เมื่อครูบาศรีวิชัยนักบุญแห่งล้านนาไทยได้มรณภาพเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2481 ณ วัดบ้านปาง อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน เมื่อสิริอายุได้ 60 ปี ได้มีการตั้งศพไว้ที่วัดบ้านปาง อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน เป็นเวลา 1 ปี และต่อมาได้มีการเคลื่อนย้ายศพมาตั้งไว้ ณ วัดจามเทวี อำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน จนกระทั่งวันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2489 จึงได้รับพระราชทานเพลิงศพ โดยมีประชาชนมาร่วมในพิธีพระราชทานเพลิงศพจำนวนมาก และประชาชนเหล่านั้นได้เข้าแย่งชิงอัฏฐิธาตุของครูบาศรีวิชัย ตั้งแต่ไฟยังไม่มอดสนิท แม้แต่แผ่นดินตรงที่ถวายพระเพลิง ก็ยังมีผู้ขุดเอาไปสักการบูชา

    อัฐิธาตุของครูบาศรีวิชัยที่สามารถรวบรวมได้ถูกแบ่งออกเป็น 7 ส่วน เพื่อไปบรรจุตามวัดต่างๆ ทั่วแผ่นดินล้านนา ดังนี้

    • ส่วนที่ 1 บรรจุที่ วัดจามเทวี จังหวัดลำพูน
    • ส่วนที่ 2 บรรจุที่ วัดสวนดอก จังหวัดเชียงใหม่
    • ส่วนที่ 3 บรรจุที่ วัดพระแก้วดอนเต้าสุชาดาราม จังหวัดลำปาง
    • ส่วนที่ 4 บรรจุที่ วัดศรีโคมคำ จังหวัดพะเยา
    • ส่วนที่ 5 บรรจุที่ วัดพระธาตุช่อแฮ จังหวัดแพร่
    • ส่วนที่ 6 บรรจุที่ วัดน้ำฮู จังหวัดแม่ฮ่องสอน
    • ส่วนที่ 7 บรรจุที่ วัดบ้านปาง อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน

    ชาวบ้านในชุมชนวัดหมื่นสารเล่าสืบต่อกันมาว่าในขณะที่มีการพระราชทานเพลิงศพครูบาศรีวิชัยที่ลำพูนนั้น ครูบาขาวปีหรือครูบาอภิชัย (พ.ศ. 2432-2520) ซึ่งเป็นศิษย์เอกของครูบาศรีวิชัยได้มา ‘นั่งหนัก’ เพื่อบูรณะวัดหมื่นสารร่วมกับครูบาอินตา อินทปญโญ อดีตเจ้าอาวาสวัดหมื่นสารและเจ้าคณะตำบลหายยาเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2489-2492 เมื่อมีการแบ่งอัฐิครูบาศรีวิชัยนั้น ครูบาขาวปีกับนายอินทร์ ดำรงฤทธิ์หรือนายอินทร์ วิลเลี่ยม (ซึ่งเป็นลูกเลี้ยงของนายเบน วิลเลี่ยม ผู้จัดการบริษัทบอร์เนียวจำกัด เชียงใหม่) นำขบวน “สลุงหามปัน” ไปรับอัฐิครูบาศรีวิชัยกลับมาถึงยังวัดหมื่นสารเป็นเวลาค่ำ จึงได้มีการเก็บอัฐิของครูบาศรีวิชัยไปไว้ที่ปรำของครูบาขาวปี ระหว่างนั้นนายอินทร์ได้จ้างลุงสมมโนซึ่งเป็นพ่อของนางบัวเขียว วงศ์เลิศ ทำตลับนาคเพื่อบรรจุอัฐิธาตุ ต่อมานายป้อม เทพมงคล ได้จ้างนายอินตา เทพมงคล ซึ่งเป็นหลานชายและเป็นช่างทำโกฎเงินเพื่อบรรจุตลับนาคอีกชั้นหนึ่ง 

    ต่อมาประมาณปี พ.ศ. 2492 (แต่บางคนบอกว่าวันที่ 13 กรกฎาคม 2489) ได้มีการจัดขบวนแห่อัฐิครูบาศรีวิชัยจากวัดหมื่นสารเพื่อนำไปไว้ที่วัดสวนดอกตามวัตถุประสงค์เดิม โดยมีการตั้งขบวนแห่จากสถานีรถไฟไปยังวัดสวนดอก ส่วนผู้ที่ทำหน้าที่อัญเชิญอัฐิธาตุครูบาศรีวิชัยนั้นทางครูบาขาวปี พระสงฆ์และคณะกรรมการวัดหมื่นสารต่างเห็นพ้องต้องกันว่าควรเป็นคนหนุ่มบ้านวัวลายที่เป็นผู้มีความประพฤติตนตั้งอยู่ในศีลธรรม จึงได้มีการตกลงเลือกนายสิงห์คำ กาวิละ ช่างเงินบ้านวัวลาย ซึ่งตอนนั้นมีอายุได้ 16 ปี เป็นผู้เชิญผอบอัฐิธาตุไปยังวัดสวนดอก โดยมีพุทธศาสนิกชนเข้าร่วมขบวนและประพรมน้ำขมิ้นส้มป่อยตลอดสองข้างทาง เมื่อขบวนมาถึงวัดสวนดอกจึงได้มีการอัญเชิญอัฐิธาตุลงใส่ไว้ในสถูปที่มีช่องเปิด-ปิดได้ ระหว่างนั้นทางวัดสวนดอกก็มีการจัดงานมหรสพฉลองสมโภชเป็นเวลา 15 วัน 15 คืน โดยมีนายอินทร์เป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายทั้งหมด 

    อย่างไรก็ตามเมื่อในช่วงที่มีการอัญเชิญอัฐิครูบาศรีวิชัยไปไว้ที่วัดสวนดอกนั้น เป็นช่วงที่วัดสวนดอกยังไม่มีเจ้าอาวาส จึงขาดผู้นำที่จะดูแลรักษาอัฐิธาตุ อีกทั้งในเวลานั้นครูบาขาวปีกับนายอินทร์ ดำรงฤทธิ์ เจ้าของผอบมีเรื่องหมางใจกัน นายอินทร์ ดำรงค์ฤทธิ์ จึงอัญเชิญอัฐิธาตุของครูบาศรีวิชัยมามอบให้ครูบาอินตา เจ้าอาวาสวัดหมื่นสารและเจ้าคณะตำบลหายยาเก็บรักษาไว้ตามเดิม ครั้นเวลาล่วงเลยไป 7 ปี ก็ไม่มีผู้ใดมาทวงคืนอัฐิธาตุดังกล่าว ทางครูบาอินตาเกรงว่าจะไม่ปลอดภัย จึงได้มอบหมายให้นายป้อม เทพมงคลร่วมกับนายอินตา เทพมงคล สร้างสถูปบรรจุอัฐิครูบาศรีวิชัยไว้ที่วัดหมื่นสาร โดยมีคณะศรัทธาวัดหมื่นสารได้ร่วมแรงร่วมใจกันบริจาคเงินสำหรับการก่อสร้างสถูปดังกล่าวจนแล้วเสร็จและมีการทำพิธีบรรจุเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2496 

    ชาวชุมชนวัดหมื่นสารจึงถือว่าอัฐิครูบาศรีวิชัยที่บรรจุอยู่ในสถูปภายในวัดเป็นของแท้ และเป็นที่เคารพสักการะของชุมชนมาจนถึงปัจจุบัน โดยเหตุที่ประวัติศาสตร์วัดหมื่นสารเกี่ยวข้องกับครูบาศรีวิชัย ครูบาขาวปี และครูบาอินตา อินทปญโญ ดังนั้นในปี พ.ศ. 2545 พระครูโอภาสคณาภิบาล เจ้าอาวาสวัดหมื่นสารคนปัจจุบันจึงได้ร่วมใจกันสร้างรูปปั้นของครูบาทั้งสามและได้สร้างศาลาเงินเพื่อเป็นที่ประดิษฐานครูบาทั้งสามดังกล่าวเพื่อเป็นอนุสรณ์สถาน

  • 5. วัดหมื่นสาร – โรงพยาบาลทหารญี่ปุ่นช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2

    ในช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่ 2 (พ.ศ. 2482-2488) นั้น วัดหมื่นสารได้ถูกกองทัพญี่ปุ่นจัดทำเป็นโรงพยาบาลเพื่อรักษาทหารญี่ปุ่นที่บาดเจ็บจากการสู้รบและที่เจ็บป่วย จากคำบอกเล่าของชาวบ้านวัดหมื่นสารว่าตอนหัวค่ำประมาณเดือนเมษายนหรือเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2488 ทหารญี่ปุ่นแต่งเครื่องแบบแบกปืนเดินกันมาเป็นขบวนเข้ามายังวัดหมื่นสาร ทั้งนี้อาจจะเป็นเพราะรอบๆวัดหมื่นสารมีสภาพเป็นป่า ซึ่งมีทั้งป่าไผ่ และป่าต้นเปล้า ด้านตะวันตกของวัดเป็นหนองน้ำยาวตลอดแนวกำแพงวัด และในตอนนั้นกำแพงวัดด้านตะวันตกและด้านใต้พังลงมาเหลือเป็นเพียงกำแพงเตี้ยๆสูงแค่เอว และบริเวณหนองน้ำด้านตะวันตกนี้เองที่ทหารญี่ปุ่นใช้เลี้ยงเป็ด ไก่และหมู เพื่อการบริโภค 

    และเนื่องจากทหารญี่ปุ่นฆ่าและชำแหละหมูไม่เป็นจึงได้จ้างวานชาวบ้านมาช่วยจัดการให้ โดยใช้บริเวณทางด้านใต้ข้างกุฏิพระที่ชาวบ้านเรียกว่า “โฮง” เป็นเรือนหลังเดี๋ยวลักษณะการสร้างแบบเรือนไทลื้อ ซึ่งมีบ่อน้ำอยู่ใกล้ๆเพื่อสะดวกในการชำแหละหมูที่ต้องใช้ทั้งน้ำร้อนและน้ำเย็น เมื่อชำแหละเสร็จเรียบร้อยแล้วทหารญี่ปุ่นจะเอาแต่เนื้อหมูไปปรุงอาหาร ส่วนที่เหลือคือหัวหมูและเครื่องในหมูได้ยกให้ชาวบ้านที่ชำแหละหมูนำกลับบ้าน

    มีการจัดทำสถานพยาบาล ที่ชาวบ้านเรียกว่า “โฮงยาทหารญี่ปุ่น” ที่วัดหมื่นสาร โดยมีการจัดทำที่พักแรมและสถานพยาบาลที่ทำเป็นโรงทำด้วยไม้ไผ่และมุงด้วยใบตองตึง ด้านข้างปิดด้วยใบตองตึง โดยมีแคร่ไม้ไผ่ยาวตลอดโรง อีกทั้งมีการสร้างโรงเก็บศพในลักษณะเดียวกัน ปัจจุบันคือบริเวณกุฏิหลังใหม่ที่สร้างให้พระเณรอาศัย

    เมื่อมีทหารญี่ปุ่นที่เจ็บป่วยก็จะถูกนำมาส่งที่สถานพยาบาลแห่งนี้ โดยมีหมอทหารและพยาบาลประจำอยู่ประมาณ 20-30 คน ซึ่งส่วนใหญ่ทหารญี่ปุ่นจะเจ็บป่วยด้วยโรคไข้จับสั่นหรือโรคมาลาเรีย และโรคขาดอาหาร เพราะต้องเดินเท้าผ่านป่าจากพม่าเข้ามาสู่พื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทย เมื่อทหารญี่ปุ่นตายก็จะมีการนำศพมาเก็บไว้ที่โรงเก็บศพที่ทำด้วยไม้ไผ่ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว หลังจากนั้นก็จะมีชาวบ้านที่ทำหน้าที่สัปเหร่อมานำศพใส่โลงศพแล้วนำไปวางบนกงล้อเข็น ที่มีวงล้อ 2 อันและมีไม้วางตรงกลางระหว่างกงล้อสำหรับวางโรงศพ โดยสัปเหร่อจะวางโรงศพพร้อมกัน 2 โลง แล้วเข็นไปเผาที่สุสานช้างคลาน โดยผ่านถนนวัวลาย ถนนราชเชียงแสน เข้าสู่ถนนระแกงไปสู่สุสานช้างคลาน

    ภายหลังสงครามได้มีลูกของทหารที่เสียชีวิตได้เดินทางมาทำพิธีคารวะบิดาของเขาที่เสียชีวิตที่วัดหมื่นสาร ซึ่งต่อมามีการสร้างกู่หรือหอเก็บวิญญาณของทหารญี่ปุ่นที่เสียชีวิต ปัจจุบันมีการนำเอาศาลาวัดหมื่นสารมาสร้างเป็นพิพิธภัณฑ์ทหารญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 (จากคำบอกเล่าของลุงสูน บุญทา อายุ 79 ปี โดยมีลุงศรีพล บุญเฉลียว เป็นผู้บันทึก เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2543) 

  • 6. นโยบายท่องเที่ยวชุมชน จากการศึกษาชุมชนในหลากหลายมิติ

    นโยบายท่องเที่ยวชุมชน จากการศึกษาชุมชนในหลากหลายมิติ ได้แบ่ง package ของการท่องเที่ยวชุมชนออกเป็นสี่รูปแบบ

    1. การท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์และวัดหมื่นสาร
    2. การเรียนรู้ชุมชนสล่าเงินชุมชนหมื่นสาร
    3. เวิร์คชอปตุงและอาหารท้องถิ่น
    4. เวิร์คชอปการตอกลายเครื่องเงิน

    Package การท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์เพื่อการเรียนรู้องค์ประกอบของการตั้งถิ่นฐานและวัดหมื่นสารอันประกอบไปด้วยตำนานของการย้ายถิ่นฐานของชุมชนวัวลาย ประวัติการสร้างวัด ตำนานเสือเยน ที่เก็บอัฐิครูบาศรีวิชัย และพิพิธภัณฑ์ทหารญี่ปุ่นในสงครามโลกครั้งที่ 2 ผู้จัดกิจกรรม คือ วัดหมื่นสาร และ ผู้เชี่ยวชาญทางประวัติศาสตร์และชุมชน สร้างรายได้เข้าสู่วัดหมื่นสาร

    Package การเรียนรู้ชุมชนสล่าเงินของวัดหมื่น เป็นการเดินเรียนรู้ชุมชนเพื่อให้เข้าใจถึงรูปแบบของการอยู่ร่วมกันอย่างเป็นละแวกบ้าน โดยแต่ละบ้านมีพื้นที่การทำงานเครื่องเงินเงินในพื้นที่ใต้ถุนบ้าน เพื่อเยี่ยมเยียนการทำงานเครื่องเงินของชุมชนหมื่นสารที่ยังหลงเหลืออยู่ในชุมชน ผู้จัดกิจกรรม คือ บ้านสล่าเครื่องเงินหมื่นสาร และ ผู้เชี่ยวชาญทางสถาปัตยกรรมและชุมชน สร้างรายได้เข้าสู่สล่าเครื่องเงิน ในรูปแบบของการเป็นพิพิธภัณฑ์มีชีวิต

    Package เวิร์คช็อปตุงเป็นการที่ต่อยอดการเรียนรู้และการให้ความรู้ของกลุ่มผู้สูงอายุในชุมชนหมื่นสาร อีกทั้งกลุ่มผู้สูงอายุในชุมชนมีทักษะในการทำอาหารพื้นถิ่นมากมาย อาทิ เมี่ยงคำ เป็นต้น ซึ่งสามารถจัดเรียงหรือจัดเป็นของว่างให้กับการเข้ามาเยี่ยมชมชุมชนและการสั่งซื้อได้อีกด้วย ผู้จัดกิจกรรม คือ ชุมชนหมื่นสาร เป็นสร้างรายได้เข้าสู่คนในชุมชน

    Package เวิร์คช็อปการตอกลายเครื่องเงิน เป็นการทำกิจกรรมของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนร่วมกันกับวัดมูลสารโดยถ่ายทอดความรู้และสาธิตการต่อเครื่องยนต์เพื่อให้นักท่องเที่ยวสามารถทำกุญแจโดยการตอกไกลอะลูมิเนียมเสมือนเหมือนกับเป็นการทดลองการตอกลายเงินขึ้นมา โดยค่าใช้จ่ายทั้งหมดจะมอบให้กลับวิสาหกิจชุมชน และวัดหมื่นสาร ผู้จัดกิจกรรม คือ วิสาหกิจชุมชน และ วัดหมื่นสาร สร้างรายได้เข้าสู่วิสาหกิจชุมชน

การติดต่อ Package นโยบายท่องเที่ยวชุมชนหมื่นสาร

  • แพ็กเกจ 1 เล่าเรื่องประวัติศาสตร์หมื่นสาร
    เดินวัดและเล่าเรื่องประวัติศาสตร์ 100 บาท
  • แพ็กเกจ 2 เดินเรียนเรียนรู้ชุมชนหมื่นสาร
    เยี่ยมชมชุมชนและบ้านไม้ของสล่าเงิน 100 บาท
  • แพ็กเกจ 3 วัฒนธรรมพื้นถิ่น
    กินอาหารและเวิร์คชอปตุง 150 บาท
  • แพ็กเกจ 4 วิสาหกิจชุมชน
    กิจกรรมตอกลายเครื่องเงิน 100 บาท

ทีมออกแบบทำเว็บไซต์
ผศ.ดร.จิรันธนิน กิติกา | คมสัน ไชยวงค์ | เมธัส ภักดิ์ดี

ทีมข้อมูล
ผศ.ดร. สุพิชฌาย์ ปัญญา | ผศ.ดร. จิรันธนิน กิติกา | รศ.ดร. ปรานอม ตันสุขานันท์  | รศ.ดร. พลอยศรี โปราณานนท์

ติดต่อ supitcha.pu@cmu.ac.th

โครงการการถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ชุมชน (Tech Transfer to Community) ภายใต้การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ตามแผนพัฒนาการศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระยะที่ 13 (พ.ศ. 2566 – 2570)