ในช่วงที่พม่าปกครองเชียงใหม่ (พ.ศ. 2101-2317) ยังไม่พบหลักฐานเกี่ยวกับวัดหมื่นสารหรือคนในชุมชนหมื่นสารเป็นส่วนใหญ่ และคาดว่าได้มีการทำนุบำรุงวัดหมื่นสาร ทั้งนี้เพราะมีร่องรอยศิลปะแบบพม่าที่เจดีย์ของวัด
จนถึงในช่วงที่เจ้ากาวิละเป็นเจ้าหลวงเมืองเชียงใหม่ (พ.ศ. 2324-2358) ได้ปรากฏเรื่องราวของคนในชุมชนหมื่นสารอย่างชัดเจนว่า ในปี พ.ศ. 2342 ชาวบ้านวัวลายในแถบลุ่มน้ำคงหรือแม่น้ำสาละวินในปัจจุบัน ได้ถูกกวาดต้อนให้มาตั้งบ้านเรือนอยู่ในบริเวณรอบๆวัดหมื่นสาร ต่อมาเจ้าเมืองอังวะได้ยกทัพมายึดเมืองปุ และตั้งเจ้าฟ้าคำเครื่องเป็นเจ้าเมือง พระเจ้ากาวิละได้โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าสุวัณณะคำมูลหลานชายคุมทัพ 300 คน ไปตีเมืองปุ เสร็จแล้วก็ข้ามแม่น้ำคงไปกวาดต้อนผู้คนจากทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำคงเช่นบ้านวัวลายเข้ามาอีกครั้งหนึ่ง และได้นำผู้คนมาตั้งบ้านเรือนในบริเวณวัดหมื่นสาร และเรียกชื่อชุมชนว่า “บ้านงัวลาย” ตามชื่อหมู่บ้านเดิมที่ตั้งอยู่ลุ่มแม่น้ำคง (แม่น้ำสาละวิน) ทำให้เกิดชุมชนบ้านงัวลายตั้งแต่นั้นมา โดยมีวัดหมื่นสารเป็นศูนย์กลางของชุมชน นอกจากนั้นในช่วงประมาณ พ.ศ. 2520 สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้พบคัมภีร์ใบลานของวัดหมื่นสารจำนวน 163 รายการ หรือ 815 ผูก และมีเอกสารใบลานที่ระบุปี จ.ศ.1187 (พ.ศ. 2368) หรือประมาณ 200 ปีที่ผ่านมา (สมโชติ อ๋องสกุล, 2558; อนุ เนินหาด, 2558)