ป้ายาเล่าว่าผู้คนดั้งเดิมในชุมชนวัดหมื่นสารต่างเกี่ยวข้องรู้จักมักจี่ เป็นญาติกันทั้งนั้น คุณป้าเองเป็นธิดาในตระกูลเก่าแก่ ที่มีขนาดใหญ่ บิดา มารดา เป็นชาวชุมชนวัดหมื่นสารมาแต่เดิม เมื่อสมัย 50-60 ปีก่อน ผู้มีอันจะกินจะให้บุตร ธิดา ได้เล่าเรียน จนจบการศึกษาระดับประกาศนียบัตร อนุปริญญา หรือปริญญาตรีขึ้นไป อาชีพที่มั่นคงในสมัยนั้นคือการเข้ารับราชการ โดยการทำงานในตำแหน่งครู-อาจารย์ นับเป็นอาชีพที่ได้รับความนิยมมากที่สุด อาชีพหนึ่ง ครอบครัวของป้ายา จึงมีพี่-น้องที่มีอาชีพครูอยู่ถึง 4 คน ป้ายาก็เป็นหนึ่งในจำนวนนั้น ในฐานะที่เป็นผู้มีความรู้ และอยู่ในชุมชนมาอย่างยาวนาน เมื่อเกษียณอายุ ป้ายาเริ่มมีบทบาทในชุมชนวัดหมื่นสารมากขึ้น ป้ายาจะเล่าความเป็นมาของชุมชนได้อย่างละเอียด มีชีวิตชีวา สามารถนำเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์จากการบอกเล่า (oral history) ได้เป็นอย่างดี ป้าจึงเป็นผู้มีบทบาทในการริเริ่มรวบรวมและนำเสนอข้อมูล ร่วมกับนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อการจัดทำพิพิธภัณฑ์ชุมชนในวัดหมื่นสาร จนเป็นรูปเป็นร่างที่เห็นในปัจจุบัน ปัจจุบันป้ายายังทำหน้าที่ดูแลพิพิธภัณฑ์ในวัดหมื่นสาร และเป็นศรัทธาที่นำถวายอาหารให้แก่พระ เณรในวัดหมื่นสาร เป็นประจำ นอกเหนือจากการเป็นกรรมการถนนคนเดินวันเสาร์ ที่มีองค์ประกอบของชุมชนทั้ง 3 ชุมชน ในย่านวัวลาย ได้แก่ หมื่นสาร ศรีสุพรรณ และนันทาราม ป้ายายังดูแลร้านเคริ่องเงินของครอบครัวที่อยู่บนถนนวัวลายอีกด้วย
ป้ายา
