• ผู้คน

ลุงภาพ

ลุงภาพเป็นชาวชุมชนวัดหมื่นสารมาแต่กำเนิด  บิดา-มารดา อาศัยอยู่ในชุมชนนี้ต่อเนื่องมาตั้งแต่สมัยรุ่นปู่ย่า-ตายาย  โดยรุ่นปู่เป็นสล่าเครื่องเงินที่มีความสามารถสูง   โดยสล่าเครื่องเงินสมัยก่อนมักแบ่งหน้าที่ให้ผู้ชายเป็นคนขึ้นรูป  เพราะต้องใช้กำลังมาก  และผู้หญิงเป็นผู้ตีเงินดุนลาย  ลุงภาพมีความเชี่ยวชาญในงานสล่าเงินทั้งสองรูปแบบ  และยังมีแนวคิดประยุกต์ใช้อลูมิเนียม  รวมทั้งหม้ออลูมิเนียม  มาขึ้นรูปเป็นขัน  เพื่อประหยัดเวลาและค่าใช้จ่าย  ทำให้ขันเงินมีราคาจับต้องได้  เหมาะสำหรับยุคปัจจุบัน  ลุงภาพเป็นบุตรชายคนโต  แต่เป็นคนที่ 2 ของพี่น้อง 5 คน  ลุงสนใจงานสล่าเงินตั้งแต่สมัยเป็นนักเรียน  และขอบิดาฝึกฝนจนค่อย ๆ ชำนาญ  และประกอบอาชีพได้ในที่สุด   เนื่องจากเศรษฐกิจละแวกบ้าน ที่ลุ่ม ๆ ดอน ๆ การดำรงชีพสล่าเงินในชุมชนเป็นเรื่องยากลำบาก  บางช่วงลุงภาพจึงต้องขวนขวาย  ไปหางานทำทั้งในกรุงเทพฯ และพื้นที่อื่นในจังหวัดเชียงใหม่   กระทั่งหลังปี พ.ศ. 2538   เครื่องเงินย่านวัวลาย  กลับมาเป็นที่รู้จักมากขึ้นอีกครั้ง  ประกอบกับภาครัฐ  และหน่ายงานท้องถิ่น  ริเริ่มโครงการถนนคนเดินวันเสาร์บนถนนวัวลาย  ทำให้การทำเครื่องเงินในย่านเฟื่องฟูขึ้นอีกครั้ง   ลุงภาพ สล่าเอกของชุมชนวัดหมื่นสาร  จึงเริ่มมีงานทำอย่างต่อเนื่องตลอดมา  การชงักงันเกิดขึ้นในช่วงโรคระบาด โควิด 19  ซึ่งเพิ่งเริ่มฟื้นฟูขึ้นอย่างจริงจังอีกครั้งหนึ่ง