อ.ดร.ชยันต์ วรรธนะภูติ

บทสัมภาษณ์ อ.ดร.ชยันต์ วรรธนะภูติ
วันที่สัมภาษณ์ 29 มิถุนายน 2563

จุดเริ่มต้นของการทำงานประชาสังคม

ในช่วงที่ อ.ชยันต์ ศึกษาในระดับปริญญาโทอยู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้มีโอกาสเข้าไปทำงานในพื้นที่ภาคอีสานของประเทศไทย ซึ่งเป็นการทำงานเกี่ยวกับการพัฒนาชุมชน ในสมัยนั้นฝั่งราชการจำเป็นที่จะต้องนำความรู้ในด้านต่าง ๆ ไปให้ชาวบ้านในพื้นที่

จากนั้น ปี 2513 ในช่วงที่กำลังศึกษาต่อระดับปริญญาเอกอยู่ที่ต่างประเทศนั้น ได้เรียนรู้แนวคิดต่าง ๆ ของทางฝั่งตะวันตกจนส่งผลต่อมุมมองและแนวคิดที่มีต่อปัญหาการด้อยพัฒนาและปัญหาความยากจนภายในประเทศของตนเปลี่ยนแปลงไป โดยคำนึงถึงการแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนทั่วไปที่จะต้องเข้าใจโครงสร้างขอสังคมก่อนเป็นสิ่งแรก ระหว่างนั้น อ.ชยันต์ ได้กลับมาทำวิทยานิพนธ์ที่ประเทศไทย มีโอกาสในการลงพื้นที่เก็บข้อมูลเกี่ยวกับชาวเขาบางส่วนที่อพยพลงมาทำงานในเมืองเชียงใหม่บริเวณไนซ์บาร์ซ่า เนื่องจากผลกระทบที่มาจากนโยบายการปลูกพืชทดแทนฝิ่นที่ยังไม่สามารถสร้างรายได้ให้กับชาวเขาได้อย่างเหมาสม คนที่ปรับตัวไม่ได้จึงจำเป็นที่จะต้องทิ้งถิ่นที่และลงมาทำงานในเมืองแทน ซึ่งการลงพื้นที่ในครั้งนี้ทำให้ อ.ชยันต์ เห็นการเปลี่ยนแปลงของสังคมและมีโอกาสได้เข้าร่วมโครงการของสหประชาชาติ (UN) ที่ได้แลกเปลี่ยนความรู้กับนักวิชาการ NGO ในประเทศไทย จนเกิดเป็นการตั้งคำถามกับตัวเองในเรื่องการนำวิชาการมาเชื่อมโยงเข้ากับการลงพื้นที่ปฏิบัติ เพื่อเป็นส่วนช่วยในการแก้ไขปัญหาของสังคมได้อย่างไร

การทำงานในภาคประชาสังคม

หลังจากจบการศึกษาในระดับปริญญาเอกแล้ว อ.ชยันต์ ได้กลับมาสอนที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พร้อมกับทำงานในด้านการส่งเสริมศิลปะวัฒนธรรมและในด้านการพัฒนาควบคู่กันไป โดยได้ร่วมงานกับ NGO เน้นไปที่บทบาทความสำคัญของภาคประชาชน แสวงหาวิธีและแนวทางการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น จึงได้เริ่มก่อตั้ง “ชมรมนักพัฒนาภาคเหนือ” ที่เริ่มจากการมีนักพัฒนาเป็นสมาชิก 3-4 คน โดย อ.ชยันต์ ในขณะนั้นอยู่ในฐานะเป็นที่ปรึกษา นักวิชาการ และผู้ประเมินผลโครงการของชมรม

ในส่วนของงานด้านพัฒนาที่ อ.ชยันต์ ได้ทำนั้น ส่วนใหญ่อยู่ในรูปแบบของการให้ความรู้ การประมวลผลความรู้ ถ่ายทอดความรู้ เพราะ อ.ชยันต์ เชื่อว่าความรู้เป็นสำคัญและจำเป็นสำหรับการเปลี่ยนแปลง ซึ่งในช่วงเวลานี้ประเทศไทยเริ่มได้รับอิทธิพลทางความคิดแบบตะวันตกเข้ามามากขึ้นเหมือนกับตกเป็นอาณานิคมทางภูมิปัญญา จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะเริ่มให้ความสำคัญ และเริ่มคิดสิ่งต่าง ๆ จากท้องถิ่น

ในช่วงปี 2530 -2539 เกิดเหตุการณ์ความขัดแย้งเรื่องป่าที่อำเภอสันกำแพง ระหว่างชาวบ้านและบริษัทเอกชนที่เข้ามาครอบครองพื้นที่ อ.ชยันต์และนักศึกษาจึงได้พยายามเข้ามาไกล่เกลี่ยเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นให้สงบลงและเริ่มที่จะเห็นปัญหาของทรัพยากรป่าไม้ จากนั้นจึงได้เริ่มทำวิจัย “ป่าชุมชน” ร่วมกับ NGO ชาวบ้านในพื้นที่ นักวิชาการ และกรมป่าไม้ ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนในการทำวิจัยชิ้นนี้จากฟอร์ดฟาวเดย์ชั่น โดย อ.ชยันต์ ได้รับหน้าที่เป็นหัวหน้าผู้รับผิดชอบโครงการ พร้อมทั้งมี อ.ฉลาดชายที่เป็นนักวิจัยหลักได้เสนอแนวคิด “ป่าไม้สังคม” คือการอนุรักษ์และการจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ต้องไม่กระทบต่อสังคมส่วนรวม ต้องได้รับความร่วมมือจากคนในพื้นที่จนค้นพบความหมายของ “สิทธิชุมชน”

อีกทั้ง อ.ชยันต์ ยังผลักดันให้มีการร่างรัฐธรรมนูญที่เรียกว่า “รัฐธรรมนูญธงเขียว” ซึ่งมีประชาชน นักวิชาการ กลุ่มชาติพันธ์ NGO ของภาคเหนือมีส่วนร่วมในการร่างมากที่สุด นอกจากนี้ยังสนับสนุนให้ภาคประชาสังคมที่ต่อต้านการสร้างเขื่อนปากมูล จ.อุบลราชธานี ในการทำงานวิจัยชื่อ “ไทบ้าน” ในปี 2540

จากการทำงานร่วมกับ NGO ที่ผ่านมาตั้งแต่สำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาเอก อ.ชยันต์ ได้ให้ความสนใจและความสำคัญกับประเด็นสิ่งแวดล้อมและสิทธิต่าง ๆ โดยในระหว่างการทำงานนี้ก็เกิดกลุ่มภาคประชาสังคมเล็ก ๆ หลากหลายกลุ่มขึ้นมา เช่น กลุ่มจังหวัดจัดการตนเอง ที่เรียกร้องต่อรองกับอำนาจส่วนกลางเพราะเห็นว่าการกระจายอำนาจเป็นปัญหาใหญ่ต่อการพัฒนาภูมิภาค อีกทั้งยังมีกลุ่มประชาสังคมที่พยายามเรียกร้องความเป็นล้านนา เช่น ภาษาล้านนาและประวัติศาสตร์ล้านนาที่เป็นอิสระ ซึ่งกลุ่มนี้มักจะมีการเชื่อมโยงอยู่กับกลุ่มกระจายอำนาจ แต่มักจะไม่ค่อยข้องเกี่ยวกับกลุ่มการจัดการทรัพยากร หรือกลุ่มสิทธิของชนกลุ่มน้อยที่ผลักดันกฎหมายฉบับใหม่ว่าด้วย “สภากลุ่มชาติพันธ์และชนเผ่าพื้นเมือง”

สิ่งที่อยากจะให้เกิดขึ้นในอนาคต

อ.ชยันต์ กล่าวว่า จากประสบการณ์ทำงานของตนที่ผ่านมา หากภาคประชาสังคมต้องการที่จะขับเคลื่อนไปสู่อนาคตข้างหน้าอย่างได้ผลจะต้องตั้งอยู่บนฐานของความรู้ เพราะความรู้เป็นพลังในการขับเคลื่อนประชาสังคม เป็นพื้นที่ทางการเมืองอย่างนึงที่หากเกิดการถกเถียงกันจะทำให้เกิดนโยบายขึ้น