อ.อรรถจักร สัตยาณุรักษ์

บทสัมภาษณ์ อ.อรรถจักร สัตยาณุรักษ์
วันที่สัมภาษณ์ 21 กรกฎาคม 2563

จุดเริ่มต้นของการทำงานประชาสังคม

ในช่วงที่ อ.อรรถจักรศึกษาอยู่ชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายเคยเข้าร่วมการประท้วงช่วยชาวนากับเครือข่ายรุ่นพี่นักศึกษาที่ศาลากลางเชียงใหม่ โดยทำหน้าที่เป็นการ์ดอาสาคอยดูแลความเรียบร้อยในพื้นที่ หลังจากนั้นจึงได้เริ่มรวมกลุ่มกับเพื่อนที่มีความสนใจคล้ายกัน ตั้งข้อสังเกตและคำถามต่อสังคม

เมื่อ อ.อรรถจักรเข้าศึกษาในระดับปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทร์วิโรฒ บางแสน ภาควิชาประวัติศาสตร์ ได้เข้าร่วมการเคลื่อนไหวทางการเมืองในช่วงเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 จากนั้นได้มีโอกาสอ่านหนังสือของ อ.นิธิ เอียวศรีวงศ์ ทำให้มุมมองของตนเองเปลี่ยนแปลงไป เกิดการตั้งคำถามต่อประวัติศาสตร์ที่เคยได้เรียนรู้มาและตั้งคำถามต่อวิธีการเข้าหาความจริง

หลังจากจบการศึกษาปริญญาตรี อ.อรรถจักรได้ลองสมัครเข้าทำงานมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคมแต่ไม่สำเร็จ จึงได้ตัดสินใจศึกษาต่อในระดับปริญญาโท เพราะมีความสนใจในประวัติศาสตร์ความคิดและประวัติศาสตร์ภูมิปัญญา

การทำงานในภาคประชาสังคม

จากนั้นเมื่อจบการศึกษาในระดับปริญญาโทแล้ว อ.อรรถจักรได้มาทำงานที่เชียงใหม่ ในช่วงเวลานั้นได้ทำงานร่วมกับกลุ่มเพื่อน NGO ที่ทำงานด้านวัฒนธรรมชุมชนและยังได้มีโอกาสทำงานร่วมกับกลุ่มชมรมเพื่อเชียงใหม่ที่เป็นกลุ่มประชาสังคมที่เข้มแข็งในช่วงเวลานั้น โดยการเคลื่อนไหวหลักในการทำงานคือเรื่องที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มชาติพันธุ์และทรัพยากรธรรมชาติ

หลังจากปี 2535 ภาคประชาสังคมในเมืองเชียงใหม่มีการเปลี่ยนแปลงการเคลื่อนไหวที่หันไปสนใจในเรื่องการเปลี่ยนแปลงของเมืองและการเมืองมากขึ้น อีกทั้งยังเริ่มมีการรวมกลุ่มของภาคประชาสังคมที่หลากหลาย โดยเฉพาะในช่วงที่เชียงใหม่ครบรอบการก่อตั้งเมืองครบ 700 ปี ผู้คนในเมืองจึงเริ่มหันกลับมาสนใจวัฒนธรรมของตนเองมากยิ่งขึ้น

ในปี 2540 เชียงใหม่เป็นจังหวัดที่ผูกธงเขียว มีการก่อตั้ง “มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน” โดย อ.นิธิและกลุ่ม อ.สมเกียรติ เป็นผู้ร่วมก่อตั้ง จากนั้นในปี 2550 ยังร่วมมือกันผลักดันมาตราเรื่องสิทธิชุมชนอีกด้วย

การสังเกตการณ์ทำงานภาคประชาสังคมตลอดระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมาของ อ.อรรถจักร แสดงให้เห็นถึงกลุ่มประชาสังคมที่มีหลากหลาย จึงได้เสนอกับทางสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนเพื่อศึกษาการเติบโตของแต่ละกลุ่มภาคประชาสังคม เพื่อทำความเข้าใจในเงื่อนไขในการพัฒนาและการเติบโต ซึ่งจะทำให้เห็นภาพรวมของภาคประชาสังคมทั้งหมด จนสามารถผลักดันการรวมกลุ่มกันเป็นเครือข่ายของภาคประชาสังคมขึ้นมา

นอกจากนี้ อ.อรรถจักรยังกล่าวถึงลักษณะการทำงานของนักพัฒนาเอกชน (NGOs) ที่มีการร่วมกลุ่มทำงานกันอย่างเข้มแข็ง แต่มีข้อเสียของการรวมกลุ่มในลักษณะนี้คือขาดแนวคิดใหม่ ๆ ที่สร้างสรรค์และหลากหลาย อีกทั้งยังส่งผลต่อการทำงานที่เคลื่อนไหวได้ช้า ซึ่งในปัจจุบันจำเป็นที่จะต้องรวมกันเป็นเครือข่ายย่อย ๆ แทนที่การรวมกลุ่มกันเป็นเครือข่ายใหญ่เครือข่ายเดียว เพื่อพูดคุย แลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารและร่วมมือการทำงานเพื่อให้มุ่งไปยังประเด็นหลัก

สิ่งที่อยากให้เกิดขึ้นในอนาคต

อ.อรรถจักรเห็นว่าในบริบทเมืองเชียงใหม่ประชาชนที่อยู่อาศัยต้องมีอำนาจในการตัดสินใจไม่ใช่การใช้อำนาจแบบรวมศูนย์แบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เพื่อผลักดันให้เมืองเชียงใหม่สามารถจัดการตนเองเกิดเป็น Sense of Belonging ของคนจำนวนมาก โดยการกระจายความรู้ผ่านเครือข่ายในเมืองให้มากขึ้น โดยมีหัวใจสำคัญในการทำให้ประชาชนมีความรู้สึกความเป็นเจ้าของพื้นที่ วัฒนธรรมและคุณค่าของเมืองเชียงใหม่ โดยการร่วมมือกันของภาคประชาสังคมในอนาคตคือความเป็นไปได้ที่จะทำให้เกิดขึ้น