เครือข่ายชุมชนเมืองรักษ์เชียงใหม่ : เสาวคนธ์ ศรีบุญเรือง

ทีมเชียงใหม่ฉันจะดูแลเธอ เริ่มต้นการเก็บข้อมูลภาคประสังคมแรก คือ เครือข่ายชุมชนเมืองรักษ์เชียงใหม่ ที่เป็นทีมขับเคลื่อนงานด้านวัฒนธรรม และประเพณีสำคัญในเมืองเชียงใหม่ อาทิ งานต๋ามผางปะตี๊ด ส่องฟ้า ฮักษาเมือง หรือ งานจุดผางประทีปรอบคูเมืองเก่าในเทศกาลประเพณียี่เป็งเชียงใหม่, งานยอสวยไหว้สา พระญามังราย หรืองานไหว้พญามังรายในวันขึ้นปีใหม่ 12 เมษายน ของทุกปี, การขับเคลื่อนชุมชนกับประเด็นเมืองต่างๆ ล่าสุดการจัดงานเสวนา “ร้อยเรียงอนาคต เวียงแก้ว” ที่จัดขึ้นเพื่อสร้างความเข้าใจที่มา กับก้าวต่อไปของการรักษาและพัฒนาเวียงแก้ว เป็นต้น เครือข่ายชุมชนเมืองรักษ์เชียงใหม่เป็นการสร้างความเข้มแข็งของกลุ่มชุมชนในเขตเมืองเก่าเชียงใหม่ที่เป็นการสร้างกิจกรรมตามพันธกิจหลักด้านสังคมและวัฒนธรรม โดยมีป้าจิ๋ม คุณเสาวคนธ์ ศรีบุญเรือง ผู้ประสานงานเครือข่ายชุมชนเมืองรักษ์เชียงใหม่ เป็นผู้ขับเคลื่อนและเป็นปากเป็นเสียงให้คนในชุมชนมากว่า 10 ปี ทีมเชียงใหม่ฉันจะดูแลเธอสรุปบทสัมภาษณ์มาได้ดังนี้

ประชาสังคมกลุ่มนี้ จัดตั้ง และมีเป้าหมายอะไร

“เครือข่ายชุมชนเมืองรักษ์เชียงใหม่” แรกเริ่มมาจากชุมชนช้างม่อย เพราะว่าเมื่อปีพ.ศ. 2553 การท่องเที่ยวเมืองเชียงใหม่เฟื่องฟู จนเริ่มขยายพื้นที่มาทางช้างม่อยและเจอปัญหาหนักเกี่ยวกับสถานบันเทิงที่เข้ามาเปิดในชุมชน แล้วส่งเสียงรบกวนกับผู้ที่อยู่อาศัย และรวมไปถึงการมีเรื่องทะเลาะวิวาท และความรุนแรงเกิดขึ้น ระหว่างผู้ที่มาใช้บริการสถานบันเทิงในตอนนั้น

ผู้คนในชุมชนจึงได้รวมตัวกันทำหนังสือร้องเรียนถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จนได้เรียนรู้กฎและการทำงานของหน่วยงานต่าง ๆ และเริ่มมีการมารวมตัวกันของแต่ละชุมชนเพิ่มมากขึ้น จนถึงขั้นผู้ว่าในตอนนั้นเข้ามาลงพื้นที่ดูแลความเรียบร้อยได้ส่วนหนึ่ง ซึ่งในปี 2555 องค์กรงดเหล้าภาคเหนือ ก็ได้เข้ามาให้ทุนสนับสนุนในเรื่องดังกล่าวกับเครือข่ายชุมชนเมืองรักษ์เชียงใหม่

โดยการรวมตัวกันนั้นทางเครือข่ายชุมชนเมืองรักษ์เชียงใหม่มองว่าเป็นการขับเคลื่อนวิธีการแก้ปัญหาได้ระดับหนึ่ง โดยวิธีที่คิดว่าเหมาะสมที่สุดคือการต่อสู้ด้วยวัฒนธรรม

ซึ่งภายในปีพ.ศ. 2555 เป็นปีที่มีความนิยมในการปล่อยโคมลอยเป็นอย่างมากในหมู่นักท่องเที่ยว จนมีการปล่อยโคมลอยที่มากกว่าปกติจนเกิดปัญหาต่าง ๆ ตามมา เครือข่ายชุมชนเมืองรักษ์เชียงใหม่จึงได้ลงชื่อร่วมมือกับ 26 ชุมชน แต่ยังคงรวมกับหลวม ๆ ไม่เหนียวแน่น เป็นการร่วมมือของหัวหน้าชุมชน เพื่อผลักดันการแขวนโคมยี่เป็งไปกับถนนภายในคูเมืองเชียงใหม่ เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวแทนที่จะปล่อยโคมแบบปกติ

โดยปัจจุบันชุมชนต่าง ๆ ที่เข้ามาร่วมประชุมกับเครือข่ายชุมชนเมืองรักษ์เชียงใหม่เป็นประจำจะอยู่ที่ประมาณ 13-15 ชุมชน

นอกจากนี้ยังมีการรวมกลุ่มกันของ “เครือข่ายดูแลคลองแม่ข่าและลำน้ำสาขา” ซึ่งเป็นเครือข่ายที่แยกออกมาจากเครือข่ายชุมชนเมืองรักษ์เชียงใหม่ ซึ่งการทำงานของเครือข่ายที่แยกตัวออกมานี้คือการชวนสื่อมาลองสำรวจคลองแม่ข่าเพื่อให้เห็นสภาพจริง ๆ ไปด้วยกัน อีกทั้งยังจัดตั้งกองทุนคลองแม่ข่าขึ้นมาในปี 2557 – 2558 เพื่อนำมาจ้างคนในชุมชนในบริเวณนั้นมาดูแลคลองแม่ข่า

ขอบเขตการทำงาน

โดยพื้นที่ที่เครือข่ายชุมชนเมืองรักษ์เชียงใหม่จะมุ่งเน้นกิจกรรมทางประเพณีเมือง และการขับเคลื่อนในพื้นที่ทางศิลปวัฒนธรรม ภายในเขตเมืองเก่าเชียงใหม่ ชุมชนรอบข้าง และบริเวณคลองแม่ข่า เป็นหลัก

การทำงานเชิงรุก

การแก้ไขประเด็นเมืองของเครือข่ายชุมชนเมืองรักษ์เชียงใหม่นั้น เริ่มจากการมองหาคนที่สามารถช่วยได้ ไม่ว่าจะเป็นคน หน่วยงาน หรือนักการเมือง โดยที่มองข้ามความเห็นต่างและอคติ เปิดใจเพื่อขอความร่วมมือในการขับเคลื่อนเมืองในประเด็นนั้น ๆ

โดยการทำงานของเครือข่ายชุมชนเมืองรักษ์เชียงใหม่จะพยายามไม่สะสมเงินในบัญชีของกองทุนมากนัก เพื่อลดปัญหาที่จะเกิดขึ้น แต่เหลือไว้บ้างสำหรับจัดการประชุมครั้งสำคัญ

การส่งต่อไปสู่อนาคต!?

พยายามชวนคนหลาย ๆ คนที่มีความรู้ในด้านต่าง ๆ เกี่ยวกับเมืองเชียงใหม่มาพูดเพื่อสร้างความเข้าใจระหว่างคนรุ่นเก่าและคนรุ่นใหม่ โดยที่รัฐต้องให้การสนับสนุน เพื่อกระตุ้นผู้คนให้ออกมาช่วยกันดูแลเมืองเชียงใหม่ให้เพิ่มมากยิ่งขึ้น

โดยในชุมชนช้างม่อยความหวังต่อคือคนที่ย้ายเข้ามาอยู่ใหม่ไม่ว่าจะเพื่อทำธุรกิจหรืออยู่อาศัย จะต้องมีความรับผิดชอบการสื่อสารที่ดีต่อคนในชุมชนและคนในสังคม ซึ่งประจิ๋มได้พูดไว้ว่า “อยู่ช้างม่อย ก็รักช้างม่อยด้วย” และ “อยู่ก็ม่วน(มีความสุข) ขายครัว(ของ)ก็ได้”

ทิศทางและภาพในอนาคต?

ป้าจิ๋มมองว่าในอนาคตคนรุ่นใหม่จะมีส่วนช่วยสำคัญในการพัฒนาเมืองได้ โดยที่จะต้องมีคนดูแลและออกแบบเมืองซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญเป็นอย่างมาก และอาจต้องมีการแต่งตั้งคณะกรรมการหรือคณะทำงานขึ้นมาเพื่อตรวจสอบความเหมาะสม ความเป็นไปได้ในกรณีที่เกิดการปรับปรุงเมืองที่ส่งผลต่อภาพลักษณ์หรือพื้นที่สำคัญของเมืองเชียงใหม่ เพื่อหาแนวทางที่เหมาะสมสำหรับทุกฝ่าย

ช่องทางติดต่อของภาคประชาสังคมนี้ที่
https://www.facebook.com/Rakchiangmainetwork/