อ.ไพสิฐ พาณิชย์กุล

บทสัมภาษณ์ อ.ไพสิฐ พาณิชย์กุล
วันที่สัมภาษณ์ 1 กรกฎาคม 2563

จุดเริ่มต้นของการทำงานประชาสังคม

อ.ไพสิฐรู้สึกสนใจในเรื่องของความเป็นธรรมมาตั้งแต่สมัยยังเรียนอยู่ชั้นมัธยมต้น จนได้สอบเข้าเรียนทางด้านกฎหมายที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง ซึ่งรูปแบบการเรียนการสอนที่เน้นในการเรียนรู้ด้วยตนเองนั้น ทำให้ อ.ไพสิฐได้ฝึกฝนทักษะในการวิเคราะห์ทำความเข้าใจกฎหมายและการปรับใช้กฎหมายในชีวิตประจำวัน

จากนั้นเมื่อ อ.ไพสิฐเรียนจบในระดับปริญญาตรีจึงได้เริ่มเรียนต่อหลักสูตรเนติบัณฑิตเพราะมีความต้องการที่จะเป็นอัยการหรือผู้พิพากษา ด้วยความใส่ใจในการเรียนจึงทำให้ อ.ไพสิฐสามารถเรียนจบได้ในระยะเวลา 1 ปี แต่เนื่องจากมีอายุที่ต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนดในการสอบเป็นผู้พิพากษา จึงได้หันไปเรียนต่อในระดับปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์ สาขากฎหมายมหาชนแทน นอกจากนี้ในช่วงเวลานั้นยังทำงานเป็นนักวิจัยภายใต้การทำงานของที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีควบคู่กันไป ซึ่งหน้าที่หลักในการทำงานคือ การค้นหากฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อไปเสนอแก่ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีก่อนที่จะนำเข้าไปพิจารณาที่ประชมของคณะรัฐมนตรี จากการทำงานในครั้งนี้ทำให้ อ.ไพสิฐได้รับมุมมองต่อกฎหมายที่ซับซ้อนมากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังมีโอกาสร่วมจัดสัมมนา “การจัดการป่าไม้ของประเทศไทย” โดยมีหน้าที่ในการเตรียมเอกสารสัมมนาและรวบรวมมติของคณะรัฐมนตรีอีกด้วย

การทำงานในภาคประชาสังคม

หลังจากจบการศึกษาในระดับปริญญาโทแล้ว อ.ไพสิฐได้ถูกชักชวนจาก อ.ชาตรี ให้มาสมัครเป็นอาจารย์ที่คณะสังคมศาสตร์ ภาควิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จากนั้นได้มีโอกาสเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในกลุ่มงานวิจัยป่าชุมชน โดยทำหน้าที่ดูแลทางด้านกฎหมายที่เกี่ยวของกับการจัดการทรัพยากรป่าของประชาชน ขณะทำงานได้นำแนวแนวคิดของ อ.ฉลาดชาย เรื่องป่าไม้สังคมมาใช้ในการวิจัยทางวิชาการทางกฎหมายเพื่อเชื่อมโยงแกนนำในการจัดการพื้นที่ป่าและรวบรวมเครือข่ายของชาวบ้านให้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการวิจัย นอกจากนี่ยังมีโอกาสได้ทำงานร่วมกับ “กลุ่มชมรมรักษ์เชียงใหม่” ในฐานะอาจารย์และนักวิจัย

ในช่วงที่จะมีการเดินขบวนครั้งใหญ่ของกลุ่มชาติพันธ์จากเชียงใหม่เข้าสู่กรุงเทพมหานคร ในช่วงเวลานั้น อ.ไพสิฐ ได้ถูกเชิญไปให้ความรู้ทางด้านกฎหมายกับกลุ่มชาติพันธ์เหล่านั้นด้วย และในช่วงพฤษภาทมิฬปี 2535 ยังได้มีส่วนร่วมในการดำเนินการจัดเวทีที่ท่าแพ จนมีโอกาสพบปะกับนักเคลื่อนไหวและนักพัฒนาทางสังคม พร้อมทั้งนักวิชาการและภาคธุรกิจ

จากการที่เคยได้ร่วมทำวิจัยป่าชุมชนที่ผ่านมาและได้รับโอกาสให้เป็นกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ จึงได้เสนอแนวคิดสิทธิชุมชนเข้าไปในช่วงการเสนอยกร่างรัฐธรรมนูญปี 2540 จากนั้นหลังจากที่ทำวิจัยป่าชุมชนจนเสร็จสิ้นจึงได้เริ่มเคลื่อนไหวในการผลักดันให้เกิดยกร่างพระราชบัญญัติป่าชุมชนขึ้นมา

พระราชบัญญัติป่าชุมชนใช้เวลาในการผลักดันกว่า 22 ปี ตั้งแต่ปี 2540-2562 กว่าจะผ่านสภาจนสำเร็จ เกิดเป็นบทเรียนสำคัญที่ อ.ไพสิฐ สรุปไว้ว่า “การได้กฎหมายมาไม่มีประโยชน์หากไม่มีสภาพบังคับ เพราะฉะนั้นเราควรต้องออกแบบตัวกฎหมายที่สภาพบังคับอยู่ที่ประชาชน จึงนำหลักการของป่าชุมชนดังกล่าว เมื่อยังไม่มีพระราชบัญญัติแต่เราสามารถนำหลักการของพระราชบัญญัติดังกล่าวมาสู่การทำให้กลไกระดับพื้นที่ กลไกระดับกรรมการป่า กลไกระดับท้องถิ่น เกิดการบังคับใช้กฎหมายได้เลย ถือเป็นหัวใจสำคัญสุดยอดของกฎหมาย” กล่าวคือ แทนที่จะรอให้เกิดพระราชบัญญัติขึ้นมา 1 ฉบับซึ่งใช้เวลานานกว่าจะยกร่างและกว่าจะบังคับใช้ สิ่งที่ควรจะทำคือการเชิญชวนประชาชนในท้องถิ่นผลักดัน “กฎหมายจารีต” เป็นการยกระดับภูมิปัญญาและวิถีของชุมชนให้เป็นกฎหมายที่มีการบังคับใช้โดยการออกเป็นข้อบัญญัติทิ้งถิ่น

จากการทำงานที่ผ่านมาทำให้ อ.ไพสิฐ เห็นข้อจำกัดของระบบการเมือง ระบบกระบวนการยุติธรรมและระบบนิติบัญญัติ ที่มีข้อจำกัดในการออกกฎหมายใหม่ ๆ ที่ทันสมัย นอกจากนี้ อ.ไพสิฐ ยังมีข้อสรุปตลอดการทำงาน 20 ปี ซึ่งเป็นข้อสังเกตุที่เห็นได้จากกฎหมายทุกรูปแบบจะมี 3 องค์ประกอบ ซึ่งกฎหมายที่ดีจะต้องมีความสมดุลของทุกองค์ประกอบ ต่อไปนี้

  1. แนวคิด เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในการจะเกิดกฎหมายขึ้นมา
  2. เมื่อมีแนวคิดก็จำนำไปสู่การแปรเป็นบทบัญญัติในทางกฎหมายรูปแบบต่าง ๆ
  3. กลไก เป็นการคิดถึงวิธีการออกแบบกลไกทางกฎหมายแบบใดให้มีประสิทธิภาพในการบังคับใช้