ศุภวุฒิ บุญมหาธนากร

บทสัมภาษณ์คุณ ศุภวุฒิ บุญมหาธนากร ผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท ใจบ้าน สตูดิโอวันที่สัมภาษณ์ 24 กรกฎาคม 2563

จุดเริ่มต้นของการทำงานประชาสังคม

ในขณะที่เรียนในระดับชั้นปริญญาตรีที่ 4 ของคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่คุณศุภวุฒิมีโอกาสไปเดินป่าเข้าไปในชุมชนที่เข้าถึงได้ยากร่วมกับอาจารย์ท่านหนึ่งและได้เห็นภาพของคนในท้องถิ่นที่อาศัยอยู่ร่วมกับสิ่งแวดล้อมรอบตัว ใช้ทรัพยากรป่าในการดำเนินชีวิตอย่างสมดุล จนเกิดเป็นแรงบันดาลใจให้รู้สึกสนใจในเรื่องของสังคมนิยม จากนั้นจึงลงเรียนวิชาปรัชญา จนส่งผลให้มุมมองที่มีต่อชุมชนเปลี่ยนไป นอกจากนี้ ในช่วงที่มีโอกาสไปฝึกงานที่กรุงเทพฯ คุณศุภวุฒิก็เริ่มสนใจในสถาปัตยกรรมท้องถิ่นพื้นบ้านคนธรรมดา ในรูปแบบของ Social Design ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจมาจาก “คาเมรอน ซินแคลร์” ผู้ก่อตั้งองค์กร “Architecture Humanity”

หลังจบการศึกษาจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คุณศุภวุฒิก็เริ่มทำงานกับ อ.จุฬาภรณ์ เป็นเวลา 2 ปี ในระหว่างนั้นก็เริ่มให้ความสนใจเรื่องมิติการอนุรักษ์โครงสร้างการดูแล (Culture Landscape) จึงเริ่มหาทุนเพื่อไปเรียนต่อในฝั่งตะวันออกเพราะมีความสนใจเป็นอย่างมาก สุดท้ายจึงได้ทุนแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมจากรัฐบาลอินเดียได้ไปเรียนที่มหาลัยแห่งแรกของที่นั้น ในสาขาอนุรักษ์สถาปัตยกรรม

เนื่องจากการได้พบเจอผู้คนที่หลากหลาย และด้านอื่น ๆ ที่แตกต่างจากไทยของอินเดีย จึงส่งผลให้ทัศนคติ มุมมองโลกทัศน์ต่าง ๆ ของคุณศุภวุฒิเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม และเริ่มที่จะสนใจในการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ โครงสร้างทางการเมือง การออกแบบ วิธีการจัดการวัฒนธรรม และวิธีการอนุรักษ์วัฒนธรรมของอินเดีย นอกจากนี้ยังมีโอกาสได้ไปดูงานในสำนักงานสถาปนิกของอินเดียที่ทำงานเพื่อสังคม จนจุดประกายให้คุณศุภวุฒิตั้งใจจะกลับมาเปิดสำนักงานของตัวเองที่เมืองไทย โดยมีเป้าหมายในการทำงานในด้านอนุรักษ์เมือง และการฟื้นฟูระบบนิเวศน์

การทำงานในภาคประชาสังคม

หลังจากที่จบจากอินเดียคุณศุภวุฒิได้รับโอกาสไปบรรยายที่มหาวิทยาลัยศิลปากร ถือว่าเป็นครั้งแรกที่ได้นำเสนอแนวคิดของตนเองจากประสบการณ์ไปเรียนรู้ที่อินเดียและจากการใช้ชีวิตให้กับคนจำนวนมากฟัง ซึ่งหลังจากการบรรยายก็ได้รับการติดต่อจากผู้ประสานงานมูลนิธิศูนย์ศึกษาที่อยู่อาศัยแห่งเอเชียเพื่อเชิญไปทำงานร่วมกัน คุณศุภวุฒิได้ตอบตกลงและทำหน้าที่ในการเป็นสถาปนิกผู้ประสานงานของมูลนิธิศูนย์ศึกษาที่อยู่อาศัยแห่งเอเชีย

โดยในการทำงาน 1 เดือน จะต้องเดินทางไป 17 ประเทศในเอเชีย รวมเป็นเวลา 2 อาทิตย์ เพื่อทำการติดตามโครงการและสร้างโครงการขึ้นมา ซึ่งถือได้ว่าเป็นการออกไปเรียนรู้ในห้องเรียนขนาดใหญ่สำหรับคุณศุภวุฒิ เพราะแต่ละประเทศก็มีระบบการทำงานที่แตกต่างกันไป ตัวอย่างการไปทำงานที่ต่างประเทศ เช่น การต่อรองกับชุมชนในประเทศลาวเรื่องการขอรื้อที่ดินบางส่วนเพื่อขยายถนนสำหรับการรองรับซีเกมส์ที่ลาวเป็นเจ้าภาพ และการออกแบบที่พักอาศัยสำหรับประชาชนทั่วไปในพม่าที่ได้รับผลกระทบจากพายุไซโคลนนาร์กีส โดยสามารถก่อสร้างได้ในราคาไม่เกิน 9,000 บาท ซึ่งระหว่างการทำงานในมูลนิธิศูนย์ศึกษาที่อยู่อาศัยแห่งเอเชีย คุณศุภวุฒิก็ได้ดำเนินการก่อตั้ง “บริษัท ใจบ้าน สตูดิโอ” กับรุ่นน้องที่รู้จักกัน

งานแรกในฐานะบริษัท ใจบ้าน สตูดิโอ คือโครงการปรับปรุงพื้นที่ร่วมกับชุมชนริมคลองแม่ข่า โดยได้มีการลงพื้นที่พูดคุยเก็บข้อมูลจากคนในชุมชนและเขียนเป็นหนังสือ “เรื่อง (ไม่) ลับริมคลองแม่ข่า” ขึ้นมา จากการลงสำรวจพื้นที่คุณศุภวุฒิเชื่อว่าชุมชนคลองแม่ข่าไม่ใช่ต้นเหตุของปัญหาต่าง ๆ แต่เป็นการขาดการวางระบบในการหาทางออก และข้อเสนอจากหลายฝ่ายร่วมกัน จนส่งผลให้ความสัมพันธ์ของคนอยู่กับเมืองค่อย ๆ หายไป

จากการทำงานร่วมกับชุมชนคลองแม่ข่าทำให้คุณศุภวุฒิค้นพบสิ่งที่สามารถเรียกได้ว่าเป็นทฤษฎีของตนเองในการทำงานคือ สถาปัตยกรรมก่อสร้างสิ่งต่าง ๆ ขึ้นมา เป็นตัวก่อสร้างรูปหล่อทางสังคมขึ้นมาใหม่ และปฏิรูปสังคมด้วยสถาปัตยกรรมเอาไว้ ซึ่งเชื่อว่าปรากฏในทุกโปรเจคที่ได้ทำมา เช่น การใช้เป็นเครื่องมือในการฟื้นฟูย่าน สวนผักคนเมือง โดยซ่อนจุดประสงค์คือการทำหน้าที่สร้างสังคมให้เข้มแข็ง และสังคมที่หันมาพึ่งพิงกันมากขึ้นเนื่องจากสังคมเมืองที่เปลี่ยนแปลงไป

ในปี 2553 ได้รับงานวางแผนตำบลของ ต.แม่ทา อ.แม่ออน จ.เชียงใหม่ ที่ย้ำความเชื่อของตนเองว่าเชียงใหม่ขาดการรวมกลุ่มกันทำงาน ต่างคนต่างทำหน้าที่ของตนเอง ทำให้ไม่สามารถวางแผนอนาคตของเชียงใหม่ร่วมกันได้

สิ่งที่อยากจะให้เกิดขึ้นในอนาคต

การทำงานร่วมกันในอนาคตต้องมีการจัดตั้งพื้นที่ขึ้นมาเพื่อเป็นพื้นที่ทำงานของคนที่มีเป้าหมายเดียวกัน เพื่อมาทำงานร่วมกันและเรียนรู้การทำงานไปพร้อม ๆ กัน เพื่อให้เกิดความเข้าใจในการทำงานร่วมกับกลุ่มคนที่หลากหลาย ซึ่งคุณศุภวุฒิอยากจะมีส่วนร่วมในการผลักดันให้งานที่ทำร่วมกันมุ่งไปสู่จุดมุ่งหมายเดียวกัน