ชัชวาลย์ ทองดีเลิศ

บทสัมภาษณ์คุณ ชัชวาลย์ ทองดีเลิศ
วันที่สัมภาษณ์ กรกฎาคม 2563

จุดเริ่มต้นของการทำงานประชาสังคม

คุณชัชวาลย์เริ่มเข้าศึกษาระดับปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ด้านกฎหมายในปี 2519 โดยได้เข้าร่วมทำกิจกรรมนักศึกษาขององค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้สนใจการเมือง โครงสร้างทางการเมืองในประเทศ ทฤษฎีและการเปลี่ยนแปลงทางสังคม อีกทั้งคุณชัชวาลย์ยังทำกิจกรรมนอกหลักสูตรอย่างต่อเนื่อง ทั้งการออกค่ายชนบทเรียนรู้วิถีชีวิตของคนในชุมชน เข้าไปคุยและทำความเข้าใจในปัญหาทางสังคมที่เกิดขึ้น

จากนั้นเริ่มก่อตั้ง “ชุมนุมสังคมพัฒนา” ที่ทำกิจกรรมทางด้านการศึกษาในทุกวันหยุด เสาร์-อาทิตย์ โดยการรวมกลุ่มกันไปสอนหนังสือเด็กด้อยโอกาส สร้างห้องสมุดให้กับชุมชนที่อยู่ห่างไกล และเป็นครูอาสา ซึ่งตลอดระยะเวลา 4 ปีที่เรียนอยู่ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์คุณชัชวาลจะเน้นการทำกิจกรรมเป็นหลัก

ในปีสุดท้ายของการเรียนในระดับปริญญาตรี มีโอกาสได้ทำงานร่วมกับชาวบ้าน ผู้นำชุมชน พระ และแม่ชีจากการลงเรียนวิชาสังคมวิทยาและมนุษย์วิทยาชนบท เกิดการตั้งคำถามสิ่งที่ได้ไปพบเจอในพื้นที่ชนบทและประสบการที่ผ่านมาจนเริ่มสนใจงานในด้านการพัฒนาขึ้นมา

การทำงานในภาคประชาสังคม

หลังจากเรียนจบจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คุณชัชวาลได้สมัครเป็นอาสาสมัครที่มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม รุ่นที่ 1 หลังจากนั้นได้เข้าร่วมการอบรมและถูกส่งตัวไปยังองค์กรพัฒนาเอกชน ซึ่งก็ได้เลือกทำงานที่ “มูลนิธิโกมลคีมทอง” การทำงานส่วนใหญ่เป็นการทำงานร่วมกับพระที่ทำงานทางด้านพัฒนาสังคมในภาคอีสาน ในขณะการทำงานคุณชัชวาลก็ได้เรียนรู้สิ่งต่าง ๆ มากมายในเวลานั้น จนเข้าสู่ช่วงปีที่ 2 ของการทำงานเป็นอาสาสมัคร คุณชัชวาลได้เริ่มทำหน้าที่เป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายอบรมและติดตามอาสาสมัครของมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม ซึ่งในช่วงเวลานั้นก็เกิดความรู้สึกที่อยากจะออกจากกรุงเทพฯ จึงได้ไปปรึกษา อ.จอน อึ้งภากรณ์ และรับคำแนะนำจนได้เข้าทำงานที่ “โครงการพัฒนาชนบทสมบูรณ์แบบ” ที่สำนักงานเกษตรภาคเหนือทำงานร่วมกับมูลนิธิ Freeditnomall จากประเทศเยอรมันตะวันตก ซึ่งคุณชัชวาลก็ถูกส่งตัวไปประจำที่ อ.ทุ่งหัวช้าง จ.ลำพูน ในตำแหน่งเจ้าหน้าที่สังคม โดยตลอดระยะเวลาการทำงาน 3 ปีที่ผ่านมาทำให้เห็นถึงปัญหาที่เกิดขึ้นจากผลของโครงการที่ไม่ประสบความสำเร็จ

จากนั้นจึงได้ย้ายไปทำหน้าที่เป็นเจ้าหน้าที่ประสานงานภาคเหนือที่เชียงใหม่ ซึ่งในช่วงเวลานั้นมีการรวมกลุ่มกันของนักพัฒนารุ่นใหม่หลากหลายกลุ่ม จึงได้มีการนัดรวมตัวกันทุกวันหยุดเสาร์และอาทิตย์ เพื่อพูดคุยและแลกเปลี่ยนความรู้ต่าง ๆ ให้แก่กัน

ต่อมาคุณชัชวาลได้เริ่มทำโครงการของตนเองที่ชื่อว่า “โครงการศึกษาวัฒนธรรมชุมชนภาคเหนือเพื่อการพัฒนา” ซึ่งเป็นการศึกษาเรื่องผีสางและความเชื่อ วัฒนธรรม ประเพณีที่มีผลต่อการใช้ชีวิตของคนในล้านนา ในระหว่างนั้นก็ได้เข้าร่วมการคัดค้านการสร้างกระเช้าลอยฟ้าขึ้นดอยสุเทพ ทำให้เริ่มรู้จักกับผู้คนในเชียงใหม่ อาจารย์ นักวิชาการ และกลุ่มเครือข่ายชุมชนเพื่อเชียงใหม่

หลังจากนั้นจึงได้เริ่มทำโครงการที่เกี่ยวกับป่าชุมชน ร่วมทำวิจัยเชิงปฏิบัติการเรื่องป่าชุมชนภาคเหนือหลังจากที่ป่าห้วยแก้วได้รับการประกาศเป็นป่าชุมชนแห่งแรกของประเทศไทย ในช่วงเริ่มแรกของการทำวิจัยนั้นเริ่มจากภาครัฐที่ทำหน้าที่เป็นผู้จัดการทรัพยากรต่าง ๆ จากนั้นก็เปลี่ยนเป็นการวิจัยการต่อสู้ของชาวบ้านในการรักษาป่า เมื่อมีการเลิกการสัมปทานป่าจึงเริ่มทำวิจัยป่าชุมชนได้อย่างเต็มที่ โดยในช่วงเวลานั้นฝ่ายวิชาการจากทั้ง 4 ภูมิภาคทั่วประเทศได้ร่วมกันทำวิจัยเรื่องชุมชนในการจัดการทรัพยากรจนเกิดองค์ความรู้ใหม่ขึ้นมา 3 เล่ม ที่มีคำว่า “สิทธิชุมชน” ชัดเจนขึ้น

ในเวลาต่อมาคุณชัชวาลได้เป็นเลขานุการ “โครงการบวชป่าชุมชน 50 ล้านต้น” มีโอกาสได้ไปดูงานที่ อ.ทุ่งหัวช้าง จ.ลำพูน ที่มีการพิธีกรรมสืบชะตาป่าต้นน้ำลี้มาจนถึงปัจจุบัน จนทำให้ได้ตระหนักถึงสิ่งที่เรียกว่า “จิตวิญญาณ” ของชุมชนที่อยู่ร่วมกับธรรมชาติ

ในช่วงที่เชียงใหม่ครบรอบการก่อตั้งครบ 700 ปี ได้มีการจัดการฉลองเกิดขึ้น และในการจัดงานครั้งที่ 3 นั้นคุณชัชวาลได้รู้จักกับคำว่า “ครูภูมิปัญญา” อีกทั้งยังมีเหตุการณ์บางอย่างจุดประกายความคิดจนได้เชิญครูบาอาจารย์ที่เข้าร่วมงานในครั้งนั้นมาถ่ายทอดความรู้ทางศิลปะวัฒนธรรมให้กับผู้ที่สนใจ เพื่อให้สืบสานประเพณีวัฒนธรรมต่อไป

จากนั้นเมื่อมีการก่อตั้งโรงเรียนสืบสานภูมิปัญญา คุณชัชวาลย์ก็ได้เริ่มทำงานที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาในครั้งนี้ จากที่ทำงานที่เกี่ยวของกับสังคมวัฒนธรรมมาตลอด จนกระทั่งในปี 2548 ได้เกิดเหตุการณ์สำคัญที่ทำให้ความคิดบางอย่างของคุณชัชวาลย์เปลี่ยนไป ในช่วงนั้นมีการผลักดัน “พรบ.เชียงใหม่จัดการตนเอง” ซึ่งจากปัญหาที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานั้นส่งผลให้คุณชัชวาลย์คิดว่าควรทำงานแบบไม่ต้องสวมหัวโขนใด ๆ ที่มีข้อจำกัดมากมาย แต่ควรทำงานในฐานะประชาชนคนหนึ่งก็สามารถขับเคลื่อนเมืองได้เช่นเดียวกัน

หลังจากการผลักดันเชียงใหม่จัดการตนเองเกิดปัญหา เพราะภาครัฐและภาคธุรกิจไม่ได้ให้การสนับสนุนซึ่งเป็นข้อสรุปที่คุณชัชวาลย์ได้จากการไปศึกษาโครงการที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันที่เกิดขึ้นทั่วประเทศไทย จากนั้นจึงได้มีการปรับเปลี่ยนการทำงานจนกระทั่งก่อตั้ง “สภาลมหายใจขึ้นมา” ซึ่งมีแนวคิดผลักดันให้ภาคประชาชนเริ่มร่วมมือกันทำงานเพื่อเชียงใหม่ด้วยตนเอง โดยที่ไม่ต้องรอการทำงานจากหน่วยงานใด เพราะจะทำให้เกิดความล่าช้าในการแก้ปัญหาที่ไม่ทันท่วงที ซึ่งก็ได้เริ่มจากวาระที่มีร่วมกันในเวลานั้นอย่างฝุ่นควันที่เริ่มเกิดขึ้นในจังหวัดเชียงใหม่

สุดท้ายการทำงานจากบนลงล่างอย่างที่ผ่านมาก็ไม่ใช่ตัวเลือกที่เหมาะสมอีกต่อไป คุณชัชวาลเห็นว่าควรเริ่มต้นการทำงานแบบมีชุมชนเป็นแกนกลาง ให้ความสำคัญกับพื้นที่เพราะแต่ละพื้นที่มีข้อจำกัดในการทำงานที่แตกต่างกัน ซึ่งในช่วงเวลานี้ก็เริ่มมีการวางแผนการจัดการปัญหาฝุ่นควันอย่างจริงจัง มีการวางแผนตั้งแต่ระยะสั้น ระยะกลาง ไปจนถึงระยะยาว โดยพยายามให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ไม่ว่าจะเป็น ชุมชุน ภาคธุรกิจ ภาควิชาการ หรือศิลปิน