ฮอมสุขสตูดิโอ กลุ่มสถาปนิกอิสระโดย 4 สมาชิกได้แก่ โอบเอื้อ กันธิยะ (โอบ) กฤษฎิ์ธาดา อินทยศ (กิต – ธุระ) ทศวีร์ โพคา (ตาม – เอวบาง) รติ จิรานุกรม (รติ) จุดเริ่มต้นของ “ฮอมสุขสตูดิโอ” คือ สตูดิโอออกแบบที่เกิดจากการร่วมก่อตั้งของกลุ่มเพื่อนที่ทำงานด้วยกันมาตั้งแต่สมัยเรียนมหาวิทยาลัย เนื่องจากพี่ตี๋ (คุณศุภวุฒิ บุญมหาธนากร) จากใจบ้านสตูดิโอชวนไปทำโปรเจคของบ้านและสวน จึงเกิดการรวมทีมกันขึ้นมา ในโปรเจคนี้ฮอมสุขได้ออกแบบร่วมกับใจบ้านเป็นบ้านตัวอย่างที่ชื่อว่า “หารร่วมมาก” ซึ่งเป็นที่มาของชื่อฮอมสุขสตูดิโอ ที่เปรียบเหมือนการนำวงกลมมาซ้อนทับกันแล้วเกิดพื้นที่ขึ้นมาตรงกลางเหมือนการมาฮอมร่วมกัน
ประชาสังคมกลุ่มนี้ จัดตั้ง และมีเป้าหมายอะไร
จากคำแนะนำของรุ่นพี่ ใจบ้านสตูดิโอ สถาปนิกชุมชนในเมืองเชียงใหม่ที่ทำงานมากว่า 10 ปีที่แนะนำให้รุ่นน้องสถาปนิกกลุ่มนี้ ริเริ่มสร้างตัวเองด้วยการรวมตัวตั้งชื่อทีม เพื่อให้ขับเคลื่อนงานออกแบบของทีม ซึ่งใจบ้านสตูดิโอเติบโตมาด้วยงานชุมชน ที่ให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ นิเวศน์ ธรรมชาติ ของคนและชุมชน ส่วนฮอมสุขสตูดิโอนั้น เริ่มต้นด้วยการเป็นสถาปนิก เรียนรู้และทดลองหลายสิ่งหลายอย่างจนกลายมาเป็นตัวตนในทุกวันนี้ที่ยังคงค้นหาแนวทางอยู่เสมอ โดย ฮอมสุขเริ่มต้นมาจับงานเมืองประมาณช่วง พฤษภาคม 2561 ซึ่งตอนนั้นทำงานในโครงการ Imagine Mae Kha โดยมีขอบเขตของการออกแบบของทีมนั้น จะมุ่งเน้นการรับงานออกแบบพื้นที่ อาคาร และสถาปัตยกรรมทั้งหมด ในส่วนของงานเมืองนั้นได้รับการติดต่อจากคนที่รู้จักและให้ทุนในการทำงาน
มุมมองในการมองเมืองและขับเคลื่อนเมืองเชียงใหม่
คุณรติ : บ้านเป็นส่วนหนึ่งของเมือง หากเราสามารถออกแบบบ้านให้สวยและน่าอยู่สิ่งเหล่านี้ ก็จะส่งผลให้กับเมือง ให้น่าอยู่ตามไปด้วย คุณเอวบาง : มองเห็นว่ามีเรื่องราวร่วมกันตั้งแต่ภาพใหญ่จนมาถึงภาพเล็ก คุณโอบ : เห็นภาพของชีวิตทั้งในบ้านและเมือง ชีวิตในบ้านเป็นยังไง ชีวิตในเมืองเป็นยังไง จึงสนใจในการออกแบบให้ชีวิตดีขึ้น ธุระ : บ้านและเมืองมีจุดร่วมคือการใช้ชีวิต เราใช้ชีวิตทั้งนอกบ้าน และทั้งภายนอก มองว่าเมืองคือห้องนั่งเล่นอีกแห่งหนึ่งของบ้าน ดังนั้น การออกแบบห้องนั่งเล่นนี้ให้น่าอยู่จึงเป็นเรื่องที่สำคัญ
กลไกของการทำงานทีม
ฮอมสุขได้ยกตัวอย่างของการทำงานที่วัวลายว่า เริ่มต้นได้รับการติดต่อจากคุณตาและได้รับโจทย์ให้เริ่มทำ Active Citizen ที่วัวลาย พร้อมกับได้รับทุนมาจำนวนหนึ่ง การทำงานจึงเริ่มต้นด้วยการลงพื้นที่ (Area Based) สำรวจแต่ละชุมชนเพื่อทำความรู้จักและหาโจทย์ร่วมของคนในชุมชน เมื่อได้แล้วจึงจัดกิจกรรมรวมตัวจนได้ประเด็นร่วมกันถึง 3 ประเด็น ถึงแม้ครั้งที่ 2 จะล้มเหลว แต่ก็ได้จัดตั้ง “เพจวัวลายสตอรี่” ขึ้นมา
ซึ่งในตอนนั้นก็มีเอกชนเข้ามาร่วมสนับสนุนด้วย โดยฮอมสุขมองว่าถึงแม้การเป็น Active Citizen จะล้มเหลว แต่อย่างน้อยที่สุดก็ได้เป็นข้อมูลเชิงผัง และข้อมูลของชุมชนที่อัพเดตมากที่สุด
มุมมองเกี่ยวกับเมืองเชียงใหม่ในอนาคต
คุณธุระ : อยากให้มี City Lab จะเป็นสถานที่หรือ Platform เพื่อเป็นฐานของคนที่อยากพัฒนาเมือง ซึ่งปัจจุบันเข้าถึงได้ยากเพราะเป็นเครือข่ายแบบคนที่รู้จักกัน จึงอยากให้มี Design Centre ,Data Centre หรือ Research Centre เป็นพื้นที่เมืองของทุกคนและค่อย ๆ ต่อยอดยกระดับขึ้นไปอีก
คุณโอบ : สนใจในประชาสังคมที่เริ่มด้วยประเด็น ฮอมสุขสนใจในวิธีการและกระบวนการที่ทำงานอยู่บนเครื่องมือที่ถนัด มีความฝันว่าอยากให้มีพื้นที่เมืองที่สามารถใช้เครื่องมือได้เยอะ ๆ และมีคนมาใช้เยอะ ๆ ด้วย
คุณเอวบาง : อยากให้มีการต่อยอดฐานข้อมูลของเมืองให้สามารถเชื่อมต่อกันได้ เข้าถึงได้ง่ายทำให้ทุกคนเห็นภาพเมืองที่ชัดเจนขึ้น เพราะปัจจุบันอยู่ในรูปแบบของข้อมูลมากเกินไป
รติ : การทำงานที่ระดับเมือง ต้องช่วยกันหลาย ๆ ฝ่าย มีเครื่องมือที่ใช้ร่วมกันและพัฒนาจนสามารถทำจริงขึ้นมาได้