บทสัมภาษณ์คุณ ประสงค์ แสงงาม
วันที่สัมภาษณ์ 28 กรกฎาคม 2563
จุดเริ่มต้นของการทำงานประชาสังคม
คุณประสงค์ในสมัยที่กำลังศึกษาอยู่ชั้นประถมศึกษาตอนปลายที่โรงเรียนบ้านเชียงดาว ได้รับเครื่องดนตรีล้านนาที่เรียกว่า “ซึง” จากเพื่อนในตอนนั้น ก่อนที่จะมีโอกาสได้ฟังเสียงของซึง จนเกิดความสนใจและหัดเล่นในที่สุด ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ได้เป็นตัวจุดประกายให้เกิดความรู้สึกรักความเป็นท้องถิ่น และความเป็นล้านนา เมื่อเริ่มศึกษาในชั้นมัธยมต้นที่โรงเรียนเชียงดาววิทยาคมจึงได้ร่วมก่อตั้งชุมนุม “สืบสานล้านนา” กับเพื่อน ๆ เพื่อที่จะเรียนรู้วิธีการเล่นซึงร่วมกัน
หลังจากนั้นในช่วงที่เริ่มเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย คุณประสงค์ได้ย้ายเข้ามาเรียนในตัวเมืองเชียงใหม่ ในสถานศึกษาชื่อวิทยาลัยเทคนิคเชียงใหม่ ซึ่งมีความจำเป็นที่จะต้องหาทุนค่าเล่าเรียนด้วยตนเองจึงได้ติดต่อ อ.สนั่น ธรรมธิ เพื่อขอความช่วยเหลือ อ.สนั่น จึงได้แนะนำคุณประสงค์ให้กับแม่ครูเฉลิมศรี พรหมสุวรรณ์ ผู้ซึ่งเป็นหัวหน้านักแสดงและนักดนตรีที่ศูนย์วัฒนธรรมเชียงใหม่ได้รู้จัก คุณประสงค์จึงได้รับโอกาสในการทำงานเป็นนักแสดงและนักดนตรีเพื่อหาทุนการศึกษาตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
นอกจากนี้ในปี 2539 ช่วงที่กำลังศึกษาชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายอยู่นั้น ยังได้ร่วมกลุ่มกับเพื่อน ๆ ทั้งจากเชียงดาวและวิทยาลัยเทคนิคเชียงใหม่ เพื่อก่อตั้งกลุ่ม “รักษ์ล้านนา” ซึ่งมีกิจกรรมสำคัญคือการเดินขึ้นดอยเชียงดาวในทุก ๆ ปี พร้อมกันนั้นยังรับสมัครกลุ่มเด็ก ๆ เข้ามาเพื่อให้ความรู้และปลูกฝังวิถีการใช้ชีวิตกับป่า รวมไปถึงความสำคัญและความเชื่อของดอยหลวงเชียงดาว
ในขณะที่เรียนต่อคณะวิจิตรศิลป์ ภาควิชาศิลปะไทย ในปี 2543 คุณประสงค์ได้มีโอกาสร่วมงานสืบสานล้านนาที่จัดโดย อ.ชัชวาลย์ ทองดีเลิศ เป็นระยะเวลากว่า 4 ปี ซึ่งการร่วมงานในครั้งนี้ช่วยเติมเต็มความรักและความชอบในวัฒนธรรมล้านนาของคุณประสงค์ให้เพิ่มมากยิ่งขึ้น
จนกระทั่งในปี 2546 ที่มีการก่อตั้งโรงเรียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนาโดย อ.ชัชวาลย์ คุณประสงค์ก็ได้สมัครเป็นอาสาสมัครสอนดนตรีอยู่ที่โรงเรียนแห่งนี้ด้วย พร้อมกันนั้นก็ได้ทำงานที่ศูนย์วัฒนธรรมเชียงใหม่ควบคู่กันไป
การทำงานในภาคประชาสังคม
ในปี 2547 คุณประสงค์สำเร็จการศึกษาจากคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และลาออกจากการทำงานที่ศูนย์วัฒนธรรมเชียงใหม่ที่ทำงานมาตั้งแต่สมัยเรียนมัธยมศึกษาตอนปลาย เพื่อเริ่มทำงานเกี่ยวกับโครงการศึกษาทางเลือก 17 จังหวัดภาคเหนือ ซึ่งได้รับมอบหมายให้ทำเพียงแค่ 9 จังหวัดภาคเหนือตอนบน เนื่องมาจากผู้ประสานงานโครงการมีเพียงคนเดียว โดยในการทำงานคุณประสงค์ต้องเดินทางไปทั่วทั้ง 9 จังหวัด เพื่อเก็บข้อมูลการจัดการการศึกษาและแหล่งเรียนรู้ต่าง ๆ ของแต่ละจังหวัด จนได้เจอแนวคิด เรียนรู้การทำงานที่หลากหลายทั้งในเรื่องการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ การฟื้นฟูวัฒนธรรม และการฟื้นฟูงานหัตถกรรม จากนั้นเมื่อลงพื้นที่ครบทุกจังหวัดที่รับผิดชอบแล้วเครือข่ายทั้งหมดจึงเข้ามาร่วมจัดงานกันที่โรงเรียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา โดยในขณะที่ทำงานโครงการศึกษาทางเลือก 17 จังหวัดอยู่นั้น คุณประสงค์ก็ได้รับโอกาสเข้าดูแลโรงเรียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนาควบคู่กันไป ซึ่งมีคติในการทำงานทั้งหมดที่ได้รับมอบหมายไว้ว่า “สืบสานล้านนา สืบสานภูมิปัญญาเพื่อการพึ่งพาตนเอง”
จนกระทั่งในปี 2550 คุณประสงค์ได้ลาออกจากโรงเรียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา เพื่อทดลองนำความรู้ที่สั่งสมและได้รับมาตลอดการทำงานที่เกี่ยวข้องกับภูมิปัญญาล้านนาไปใช้ในการทำงานด้านอื่น ๆ ซึ่งก็ได้ทดลองจัดทัวร์การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องกับล้านนาโดยเฉพาะที่เมืองเชียงตุง ประเทศพม่า และในขณะนั้นวัดโบราณที่เมืองม้าที่เชียงตุงจะมีการรื้อถอนเนื่องจากสภาพที่ทรุดโทรมเป็นอย่างมาก คุณประสงค์เมื่อทราบข่าวจึงได้รวบรวมผู้คนหลากหลายกลุ่มมาร่วมมือกัน เพื่อหาทางอนุรักษ์วัดโบราณเหล่านั้นเพื่อให้เป็นต้นแบบแก่เมืองเชียงตุง ซึ่งก็ได้รับความร่วมมือกับคนในชุมชนในการบูรณะวัดราชฐานหลวงที่เมืองม้า เมืองเชียงตุง ปะเทศพม่า โดยวิธีแบบโบราณสำเร็จในที่สุด
ในช่วงเวลาที่มีการทำทัวร์ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม คุณประสงค์ก็ได้เริ่มจัดการมั่วจนได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี จากนั้นจึงมีการรวมกลุ่มเครือข่ายที่เกี่ยวกับอาหารล้านนาเพื่อจัดนิทรรศการต่าง ๆ ตามที่มีคนจ้าง โดยได้มีการศึกษารูปแบบอาหารล้านนาโบราณและปรับใช้ในงานนิทรรศการเหล่านั้น พร้อมกับเรียนรู้วิธีการจัดการแต่งงานล้านนาโบราณและรับจัดให้กับคนที่สนใจ ซึ่งธุรกิจเป็นไปได้ด้วยดีเป็นอย่างมาก คุณประสงค์จึงได้ก่อตั้งบริษัท เมืองงามครีเอชั่น จำกัด เพื่อรับจัดงานนิทรรศการแบบล้านนาให้กับผู้ที่สนใจ
ปัจจุบันมีการจัดงานนิทรรศการเชิงวัฒนธรรมล้านนาเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก ซึ่งคุณประสงค์ก็รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่ง เพราะยิ่งมีงานกิจกรรมเชิงวัฒนธรรมล้านนาเพิ่มขึ้นและมากเท่าไร ก็จะยิ่งช่วยให้วัฒนธรรมและภูมิปัญญาล้านนาเป็นที่รู้จักมากเท่านั้น เปรียบเสมือนกับการรื้อฟื้นวัฒนธรรมเหล่านี้ขึ้นมามีชีวิตใหม่ในยุคปัจจุบัน
สิ่งที่อยากจะให้เกิดขึ้นในอนาคต
คุณประสงค์กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของโลกในยุคปัจจุบัน วัฒนธรรมโบราณล้านนาจำเป็นจะต้องปรับตัวเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ ไม่งั้นวัฒนธรรมและภูมิปัญญาจะค่อย ๆ หายไปตามกาลเวลา ซึ่งจะต้องมีการปรับให้เข้ากับยุคสมัยแต่คงไว้ซึ่งเอกลักษณ์ความเป็นล้านนาให้มากที่สุด เพื่อที่ถึงแม้จะเป็นวัฒนธรรมล้านนาร่วมสมัย แต่รากเหง้าของล้านนาโบราณก็จะยังคงไม่หายไป สิ่งสำคัญคือการที่ต้องเรียนรู้และทำความเข้าใจในแก่นแท้ของวัฒนธรรมเหล่านนั้น