เชียงใหม่ ขนส่งมวลชนหรือทางเท้าที่ดี อะไรควรมาก่อนกัน

จังหวัดเชียงใหม่เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ การค้าและ การลงทุนที่สำคัญ พร้อมกับได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวชาวไทยและ ต่างชาติเป็นอย่างมาก จากแหล่งท่องเที่ยวทั้งทางธรรมชาติ ศิลปวัฒนธรรมและประเพณีที่เป็นเอกลักษณ์ ความพร้อมของสถานที่พักและบริการด้านการท่องเที่ยวต่างๆ ที่หลากหลาย จึงเป็น ที่ดึงดูดให้คนมาท่องเที่ยวนับล้านคนในแต่ละปี (กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา, 2559)

แต่เชียงใหม่มีระบบขนส่งมวลชนหลักเพียง 1-2 ประเภทเท่านั้น หนึ่งในนั้นคือรถที่นักท่องเที่ยวและชาวเชียงใหม่รู้จักเป็นอย่างดีในชื่อ รถแดง ต้นกำเนิดของรถแดงนั้นมีมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2518 เกิดจากการรวมกลุ่มกันของรถรับจ้างในเชียงใหม่ และต่อมาได้รับสัมปทาน 21 เส้นทางในตัวเมืองเชียงใหม่ ถูกกำหนดสีให้มีสีเดียวกัน

รถแดงเชียงใหม่ ประสบปัญหาด้านความสะดวก คุณภาพ ความปลอดภัย มาตรฐานราคา ระยะเวลาในการเดินทาง (รวีวรรณ แพทย์สมาน, 2563) ทำให้มีผู้เลือกใช้บริการรถแดงเพียง 52.1% (ธวัชชัย บริสุทธิยางกูร, 2549) โดยส่วนใหญ่ใช้บริการรถแดงเพื่อไปเที่ยว ไปห้างสรรพสินค้า 34.25% อันดับสองคือไปทำธุระส่วนตัว 25.50% และเดินทางไปศึกษาเล่าเรียน 16.25% ช่วงเวลาที่ใช้บริการมากที่สุดคือ 09:30-15:30 โดยส่วนใหญ่จะใช้บริการรถแดง 1-2 ครั้งต่อสัปดาห์ (รวีวรรณ แพทย์สมาน, 2563)

จากปัญหาด้านต่างๆ ของรถแดง ทำให้ประชากรจังหวัดเชียงใหม่นั้นเลือกซื้อรถจักรยานยนต์ และรถยนต์ส่วนตัวเพื่อความสะดวกในการเดินทาง โดยในจังหวัดเชียงใหม่ มีผู้ใช้รถจักรยานยนต์เดินทางถึง 55% และใช้รถยนต์เพื่อการเดินทางถึง 42% ในส่วน 3% ที่เหลือนั้นเป็นการเดินทางโดยวิธีการอื่นๆ เช่น รถแดง จักรยาน หรือการเดิน ซึ่งตัวเลขดังกล่าวสอดคล้องกับตัวเลขเศรษฐกิจที่พบว่า รายได้ธุรกิจเชียงใหม่ใหญ่ที่สุดมาจากการจำหน่ายยานยนต์ใหม่ และรองลงมาเป็นการขายเชื้อเพลิงปลีกแก่ยานยนต์

แต่จากการดูพื้นที่ จังหวัดเชียงใหม่มีพื้นที่ถนนเพียง 5% ต่อพื้นที่เมือง ซึ่งน้อยกว่ากรุงเทพมหานคร (7%) พร้อมทั้งยังมีซอยตันอีก 15% ถ้าหากมีการใช้รถส่วนตัวในเวลาที่พร้อมกันก็จะทำให้การจราจรในเชียงใหม่นั้นติดขัดได้ไม่ยาก

ปัจจุบันรถแดงเชียงใหม่ ได้มีการสร้างมาตราฐานราคาที่เดินทางภายในถนนวงแหวนรอบ 2 ไว้ที่ 40 บาท แต่ยังมีผู้พบว่ามีการเรียกราคาที่เกินมาตรฐานอยู่บ้าง ทั้งนี้การเดินทางไปยังพื้นที่อื่นที่ไม่ได้กำหนดสามารถพูดคุยกับผู้ขับโดยจะคิดราคาประมาณ 200-250 บาท

ช่วงก่อนการแพร่ระบาดโควิด-19 เชียงใหม่ยังมีบริการรถเมล์ประจำทาง โดยมีให้บริการครอบคลุมตัวเมืองเชียงใหม่ สนามบิน เขตเมืองเก่า โดยมีค่าบริการประมาณคราวล่ะ 40 บาทพร้อมระบบตรวจสอบเส้นทางและ ติดตามตัวรถได้ทางระบบอินเทอร์เน็ต แต่ปัจจุบัน รถเมล์ทั้งหมดได้ปิดให้บริการชั่วคราว และคาดว่าจะเปิดบริการอีกครั้งช่วงเดือน พฤศจิกายน 2564 นี้

สำหรับผู้ที่จะเดินทางไปยังต่างอำเภอเชียงใหม่มีบริการรถที่เหมือนกับรถแดง แต่มีหลากหลายสีตามปลายทางของเส้นทางนั้นๆ โดยมีค่าบริการอยู่ที่ 15-80 บาทซึ่งเป็นราคาที่ไม่สูงนัก แต่อาจจะพบกับปัญหาผู้โดยสารเต็มในบางช่วงเวลา

จากข้อมูลทั้งหมดจะเห็นว่าเชียงใหม่นั้นพึ่งพาขนส่งมวลชนที่ชื่อว่า รถแดง อยู่มาก เนื่องจากมีประวัติอันยาวนาน แต่ก็พบกับหลากหลายปัญหา ทั้งเรื่องคุณภาพ มาตรฐาน เส้นทางเดินรถ การผลักดันให้มีระบบขนส่งมวลชนที่ตอบโจทย์ผู้ใช้ หรือการปรับปรุงหรือควบคุมรถแดงให้มีมาตรฐานเพียงพอกับความต้องการของผู้ใช้ อาจจะทำให้คนเชียงใหม่ลดการใช้รถยนต์และรถจักรยานยนต์ส่วนตัวหรือไม่ พร้อมทั้งยังลดปัญหารถติดได้อีกด้วย

ทางเท้า เป็นหนึ่งในตัวเลือกสำหรับชาวเชียงใหม่และ นักท่องเที่ยว ย่านที่มีการเดินอย่างกว้างขวาง อย่างย่านนิมมานเหมินท์ มีการเดินไปมาเนื่องจากภายในซอยรถใช้ความเร็วไม่มากและเกือบทุกซอยนั้นเชื่อมต่อถึงกัน อีกพื้นที่หนึ่งก็คือย่านภายในคูเมือง ซึ่งมีถนนที่เชื่อมถึงกันหลายเส้น รอบคูเมืองมีทางเท้าพร้อมกับต้นไม้จำนวนมาก และบรรยากาศที่เหมาะแก่การเดิน

แต่ทางเท้าในเชียงใหม่นั้นยังไม่ได้มาตรฐาน พบว่าหลายเส้นทางเรามีทางเท้ากว้างไม่ถึง 1 เมตร และยังพบสิ่งกีดขวางมากมาย เช่น เสาไฟฟ้า หาบเร่แผงลอย ต้นไม้ ป้ายโฆษณา ตู้ไปรษณีย์ ป้อมตำรวจ ฝาท่อที่ไม่เรียบ พื้นชำรุด สะพานลอย และทางขึ้นลงที่ไม่ได้มาตรฐานทำให้ขึ้นลงลำบาก ยังไม่รวมถึงความสูงของทางเท้าเมื่อเทียบกับระดับถนนที่ไม่ใกล้เคียง ทำให้การใช้งานสำหรับผู้พิการนั้นยากลำบาก โดยเมื่อเราทดลองเดินจริงๆ แล้วจะพบว่า คนปกติก็ใช้ทางเท้าในบางช่วงนั้นลำบาก ต้องมีการหลบสิ่งกีดขวางลงมายังพื้นถนน หรือมีการปีนป่ายขึ้นทางเท้าที่สูงในบางช่วง

จากการศึกษาและค้นคว้าข้อมูลของ ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC) ซึ่งปัจจุบันได้ทำการวิจัยเรื่องเมืองเดินได้เดินดีให้กับเชียงใหม่ด้วยนั้น พบว่าการมีทางเท้าที่ดีนั้นมีข้อดีมากมาย ประชากรจะมีเพื่อนและมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นๆ มากขึ้นถึง 3.1 คน ลดภาวะการเกิดโรคอ้วนได้ถึง 10% เนื่องจากมีการเดินต่อเนื่องคล้ายกับการออกกำลังกาย และคนจะจับจ่ายซื้อของร้านค้า ธุรกิจย่านที่เดินได้มากขึ้น 65% พร้อมทั้งมูลค่าอสังหาริมทรัพย์ของย่านเดินได้จะสูงขึ้น 320% การที่ทางเท้าดี คนเดินกันมากขึ้น ลดการใช้รถยนต์ส่วนตัวยังทำให้เราลดการปล่อยก๊าซไนโตรเจนออกไซด์ 40% และลดการเสียชีวิตสำหรับผู้อายุเกิน 60 ปีขึ้นไป 22% จากการเดินมากกว่า 15 นาทีต่อวัน

จะเห็นว่าการเดินนั้นมีข้อดีที่เรายังมองไม่เห็นอีกมากมาย เมืองเชียงใหม่เป็นเมืองท่องเที่ยว การเดินเป็นหนึ่งในตัวเลือกแรกๆของนักท่องเที่ยว เพื่อเดินทางไปเยี่ยมชมย่านต่างๆที่ใกล้เคียง โดยเฉพาะในฤดูหนาวที่เชียงใหม่นั้นมีภูมิอากาศที่เย็นสบาย เหมาะสำหรับการเดินไปยังสถานที่ต่างๆ แต่ด้วยทางเท้าที่ยังไม่ได้มีมาตรฐานมากพอ ก็ทำให้นักท่องเที่ยวเดินกันน้อยลง และเมื่อมองย้อนกลับมายังประชากรในเชียงใหม่ ส่วนใหญ่แล้วนั้นก็เลือกการเดินเป็นลำดับหลัง โดยเลือกใช้รถจักรยานยนต์เป็นอันดับแรก 

ภายในคูเมืองเชียงใหม่ มีวัดอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมของชาวต่างชาติ เพื่อเข้าไปเยี่ยมชมศิลปะ วัฒนธรรม และสถาปัตยกรรมของวัด จากการค้นคว้าพบว่ามีชาวต่างชาติจำนวนหนึ่งทำการวางแผนการเดินเพื่อเยี่ยมชมวัดต่างๆในคูเมือง และจากการสำรวจ วิจัยของศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC) จะเห็นได้ว่าในตัวเมืองเชียงใหม่มีส่วนที่เข้าถึงด้วยการเดินได้ปานกลาง-ดี จำนวนมาก การพัฒนาเท้าให้ดีได้มาตรฐานควรเป็นสิ่งที่จำเป็นหรือไม่

เชียงใหม่ ขนส่งมวลชน หรือ ทางเท้าที่ดี อะไรสำคัญกว่ากัน ควรปรับปรุงเรื่องใดก่อนหรือควรจะพัฒนาไปพร้อมๆกัน เป็นประเด็นที่เราอยากชวนมาพูดคุยกัน

foo