จริงอยู่ว่ากลุ่มธุรกิจท่องเที่ยวและการเกษตรเป็นรายได้หลักของเชียงใหม่ แต่มีรูปแบบเศรษฐกิจอื่นอีกไหมที่จะสามารถทำให้เชียงใหม่พัฒนาอย่างก้าวกระโดดได้
Knowledge Based Economy
ถูกเอ่ยขึ้นครั้งแรกในหนังสือ The Age of Discontinuity; Guidelines to Our Changing Society (1969)โดยผู้เชี่ยวชาญศาสตร์บริหารธุรกิจ Peter Drucker นิยามไว้ว่า“เป็นการใช้ความรู้เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับระบบเศรษฐกิจ” ข้อมูลความรู้เป็นทรัพยากรที่มีประสิทธิภาพที่สุดในการสร้างความมั่งคั่ง และมาแทนที่ทรัพยากรเดิม เช่น ทรัพยากรพลังงาน แรงงานกรรมาชีพให้ไปสู่แรงงานที่มีทักษะ แนวคิดนี้สอดคล้องกับ Robert Solow นักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำ ที่เชื่อว่า“ประเทศจะเติบโตต้องสร้างผลิตภาพ (Productivity) ผ่านเทคโนโลยี”
ปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจบนฐานความรู้ มีสี่ประการด้วยกัน
1 ความรู้ (Education)
ด้วยการสนับสนุนสถาบันการศึกษาและกลุ่มธุรกิจในสาขาเหล่านี้ :
- เทคโนโลยี : โรงงานเทคโนโลยีขั้นสูง, วิศวกรรมและสถาปัตยกรรม, งานวิจัยและพัฒนา (R&D)
- ICT : IT Service, โทรคมนาคม, คอมพิวเตอร์โปรแกรมเมอร์
- Advance Service: การบริหารสำนักงาน, งานวิจัยตลาดและโฆษณา
- กลุ่มธุรกิจสร้างสรรค์ เช่น สื่อสิ่งพิมพ์ ภาพยนต์ รายการ ดนตรี งานออกแบบ
เชียงใหม่ถือว่ามีพื้นฐานที่พร้อมต่อยอดอยู่เดิม จากการมหาวิทยาลัยถึง 5 แห่ง เราสามารถแจกจ่ายประเด็นต่างๆให้แต่ละมหาวิทยาลัย เพื่อพัฒนาความเชี่ยวชาญในสาขานั้นๆโดยเฉพาะ เป็นจุดแข็งดึงดูดต่างชาติมาศึกษาและสร้างข้อเสนอให้แรงงานทักษะสูงเหล่านี้ทำงานในเชียงใหม่ต่อไป (Economic Regime ในข้อ1)
2 ระบบกฎเกณฑ์ทางเศรษฐกิจ (Economic Regime)
รัฐกระตุ้นองค์กรให้ลงทุนในเทคโนโลยีด้วยการให้สิทธิพิเศษ (incentive) เช่น รัฐงดเว้นภาษีนำเข้าเครื่องจักรนำสมัย, ศูนย์เศรษฐกิจการลงทุน(BOI)ให้ทุนและอบรมผู้ประกอบการ Startup เป็นต้น
3 ระบบนวัตกรรม Innovation System
ระบบที่ทำให้องค์กรเข้าถึงความรู้ทั่วโลก เพื่อซึมซับประยุกต์ใช้และสร้างองค์ความรู้เฉพาะตัวขึ้นมา
4 โครงสร้างพื้นฐานเพื่อกระจายความรู้ Information Infrastructure
เช่น ระบบอินเตอร์เนทครอบคลุมทุกพื้นที่ คอมพิวเตอร์ทันสมัยเพียงพอต่อจำนวนนักเรียน พื้นที่ปฏิสัมพันธ์ต่อยอดความรู้
ทั้งหมดนี้ ไม่ได้หมายความว่าเราจะทิ้งภาคการท่องเที่ยว แต่เป็นการส่งเสริมภาคการท่องเที่ยวให้ฟื้นตัวพร้อมๆกับลดการพึ่งพาการท่องเที่ยวลง เปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยองค์ความรู้เป็นหลัก เพิ่มมูลค่าของเศรษฐกิจให้ก้าวกระโดด ให้กลายเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วและหลุดจากกับดักรายได้ปานกลางในที่สุด
ลองมาดูแต่ละประเทศที่โอบรับ Knowledge Based Economy กัน ว่าเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร
สโลวาเกีย
สาธารณรัฐสโลวักภายหลังเข้าร่วมในกลุ่มเศรษฐกิจ OECDในปี 2000 (Organisation for Economic Co-operation and Development) รัฐเริ่มมุ่งเน้นแผนปฏิบัติการด้านการวิจัยและพัฒนาและนวัตกรรมและความร่วมมือด้านStartup 20 ปีผ่านไปสโลวักโดดเด่นขึ้นมาจากแรงงานฝีมือระดับสูงและเติบโตเร็วอย่างต่อเนื่อง แรงงานสโลวักทั่วไปมีรายได้เพิ่มขึ้นถึง 70% และเป็นที่ต้องการของประเทศในยุโรป
จากที่กล่าวถึงปัจจัยการขับเคลื่อนเศรษฐกิจบนความความรู้ในภาพก่อนหน้า สโลวักใช้กุญแจสำคัญ ดังนี้
ความรู้ (Education)
สถาบันการศึกษา คือกุญแจสำคัญของการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่นี้ สโลวักสร้างระบบการศึกษาแบบควบรวมหลายแขนง(multidisciplinary curriculum) เช่น สาขาอุตสาหกรรมผนวกกับสร้างสรรค์ สาขาวัฒนธรรมผนวกกับนวัตกรรม และติดอาวุธทักษะทางภาษา(multilingualism) เพื่อเปิดประตูสู่ตลาดใหม่และโอกาสทางธุรกิจ (E. Davignon ,2007)
ระบบกฎเกณฑ์ทางเศรษฐกิจ (Economic Regime)
เกิดการเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์ทางธุรกิจ การปฏิรูปภาษี สร้างนโยบายส่งเสริมพลวัตของตลาดแรงงาน เพิ่มเสถียรภาพทางเศรษฐกิจมหภาคและการเงินการแปรรูป ประกอบกับตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ที่เอื้ออำนวย ส่งผลให้สาธารณรัฐสโลวักเป็นจุดหมายปลายทางด้านการลงทุนที่เป็นที่ต้องการตัวมากที่สุดในยุโรป
เมื่อเกิดการระบาดใหญ่ของ Covid19
สโลวักจัดหางานชั่วคราวสำหรับคนงานทักษะต่ำ และสายงานที่ได้ผลกระทบมากที่สุดได้แก่ การท่องเที่ยว ค้าปลีก และก่อสร้าง แต่เหลือเชื่อว่าเศรษฐกิจสโลวักโดยรวมกลับยังคงแข็งแรงและมีแนวโน้มเติบโตจากรายได้หลัก คือ อุตสาหกรรมรถยนต์ การจ้างงานแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์และการว่างงานอยู่ที่ระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2536
นี่คงพอชี้ให้เห็นความจำเป็นของการสร้างทักษะระดับสูงให้ประชากร เพื่อให้เศรษฐกิจของเรายืดหยุ่นมากพอต่อความสั่นสะเทือนที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
เกาหลีใต้
หลังแผ่นดินเกาหลีแยกออกเป็นเหนือใต้ ชาวเกาหลีรู้ดีว่าสิ่งที่ทำให้กลับมามีที่ยืนได้บนเวทีโลก มิใช่การประกาศอานุภาพการทหาร หากแต่เป็นการสำแดงแสนยานุภาพทางเศรษฐกิจ จากประเทศที่ยากจนข้นแค้น เกาหลีใต้ใช้เวลา 60 ปีกลายเป็นประเทศที่ความสามารถในการแข่งขันทางด้านอุตสาหกรรมสูงที่สุดหนึ่งในสามของโลก (Economist Intelligence Unit) และก้าวขึ้นเป็นประเทศเศรษฐกิจใหญ่อันดับที่ 11 ของโลกในปี 2016 การปฎิรูปนี้คล้ายกับประเทศที่พัฒนาแล้วทั้งหลาย คือขยับจากเศรษฐกิจสินค้าเกษตรสู่สินค้าอุตสาหกรรมส่งออก
ความสำเร็จของเกาหลีไม่ใช่เรื่องบังเอิญ จากแผนยุทธศาสต์บนกระดาษสมัยรัฐบาลประธานาธิบดีปักจุงฮี (Park Chung Hee) นำไปสู่การสร้างคนและสภาพแวดล้อมเพื่อไปสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างจริงจัง
งบประมาณกับงานวิจัยและพัฒนา(R&D)
ข้อมูลที่น่าตกใจชิ้นนึง ชี้ให้เห็นว่า ตั้งแต่ปี 1996-2015 เกาหลีทุ่มงบประมาณกับงานวิจัยและพัฒนา(R&D) มากกว่าผู้นำโลกด้านนวัตกรรมอย่างอเมริกาและญี่ปุ่นหลายเท่า /20 ปีผ่านไป ภาควิจัยพัฒนาของเกาหลีเติบโตกว่า 88% ในขณะที่อเมริกาโตขึ้นเพียง 14% ปัจจุบันรัฐบาลเกาหลีใต้สนับสนุนงบประมาณด้านการพัฒนาและวิจัย (R&D) ให้กับกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเกาหลีใต้ ปี ๆ หนึ่งไม่น้อยกว่าหนึ่งหมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ขณะเดียวกันเกาหลีใต้ยังมีสถาบันวิจัยทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีหลายแห่ง
โครงสร้างพื้นฐานเพื่อกระจายความรู้ Information Infrastructure
เกาหลีใต้เตรียมพร้อมเพื่อเข้าสู่ Knowledge Based Economy ด้วยอัตราการเข้าถึง Broadband Internet รายหัวสูงที่สุดในโลก ประชากรเกาหลีใต้มีอัตราผู้มีความรู้เชิงวิทยาศาสตร์หรือ Scientific Literacy สูงที่สุดในโลกขณะที่มีอัตราผู้มีความรู้เชิงคณิตศาสตร์ หรือ Mathematically Literacy สูงเป็นอันดับสองของโลก
นโยบายสร้างแรงจูงใจให้ลงทุนนวัตกรรม
ภายใต้การนำของกลุ่มแชโบล (Chaebol) นำพาอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ รถยนต์ เหล็ก หรือเคมี ส่งออกสินค้าไปทั่วโลกจนมีแบรนด์ที่ทั่วโลกคุ้นเคยกันดี (Global Brand) เป็นสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และรถยนต์อย่าง Samsung, Hyundai, LG
อย่างไรก็ตาม การพัฒนาอุตสาหกรรมการส่งออกจนติดอันดับหนึ่งในสิบของโลกก็ยังมีช่องโหว่ เนื่องจากผู้นำเข้าสินค้ารายใหญ่ของเกาหลีคือประเทศจีน ซึ่งจีนเองลงทุนกับการสร้างแรงงานมีทักษะและสร้างโรงงานระดับสูงอย่างต่อเนื่อง จึงมีความเป็นไปได้ว่าจีนจะผลิตทุกอย่างด้วยตนเองในอนาคตอันใกล้และเลิกพึ่งพาการนำเข้าจากเกาหลีอีกต่อไป ดังนั้นกลยุทธ์ที่เกาหลีควรเตรียมไว้แต่เนิ่นๆคือการพัฒนานวัตกรรมที่เป็นเอกสิทธิ์และเริ่มลงทุนในกลุ่มธุรกิจสิ่งแวดล้อมแทน ไทยเองก็อยู่ในสภาวะที่ส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมและเป็นโรงงานผลิต แต่ยังขาดการสร้างนวัตกรรมเป็นของตนเองอย่างจริงจัง
เอสโตเนีย
ประเทศอดีตสหภาพโซเวียตซึ่งแยกตัวออกมาเป็นอิสระในปี 1991 ในเวลานั้น ประชากรส่วนใหญ่ฐานะยากจน ขาดโอกาสการศึกษา ไม่มีแม้โทรศัพท์ใช้ติดต่อหากัน
เรียกว่าแทบไม่มีต้นทุนหรือความสามารถในการแข่งขันในเวทีโลกโดยสิ้นเชิงจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญเกิดขึ้น เมื่อเปลี่ยนจากคอมมิวนิสต์เป็นประชาธิปไตยระบบสภาMatt Laar คนรุ่นใหม่หัวก้าวหน้าวัย 32 ก้าวขึ้นมาเป็นนายกฯคนแรกของเอสโตเนียพร้อมคณะรัฐมนตรีที่อายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์ (อายุเฉลี่ยเพียง 35 ปี)คณะทำงานวางแนวทางปฏิรูประบบประเทศอย่างรวดเร็ว โดยเน้นพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม
หลายคนอาจเคยเห็นคลิปผู้นำประเทศนิวซีแลนด์ จาซินดา อาร์เดิร์นอ่านผลงานสรุปผลงานรัฐบาล 2 ปี ภายใน 2 นาที ทีนี้เราขอท้าให้คุณอ่านวิวัฒนาการทางดิจิทัลของเอสโตเนียในสองนาทีดูบ้าง
- ปี 1992 ปฏิรูปประเทศ เปิดเสรีการค้าและแปรรูปรัฐวิสาหกิจเป็นเอกชน เพื่อเกิดการแข่งขันทางเทคโนโลยี
- ปี 1996 บัญญัติทักษะเทคโนโลยีและดิจิทัลในการศึกษาขั้นพื้นฐาน ทุกรร.มีคอมพิวเตอร์ เชื่อมฐานข้อมูลความรู้ โรงเรียนห่างไกลไม่ต่างจากโรงเรียนในเมือง พัฒนาระบบ e-Learning เป็นประเทศแรกๆ ในโลก
- ปี 1997 e-Government ประชาชนเข้าถึงบริการของรัฐด้วยอินเทอร์เน็ตถึง 99%
- ปี 2000 e-Tax ระบบยื่นภาษีออนไลน์ ใช้เวลาเพียง 3-5 นาที! ประชาชนใช้ระบบนี้ถึง 95%
- ปี 2001 X-Road ระบบที่ภาครัฐและเอกชนเข้าถึงข้อมูลร่วมกัน
- ปี 2002 Digital ID ระบบยืนยันตัวตนดิจิทัล
- ปี 2005 e-Voting ระบบลงคะแนนเสียงเลือกตั้งออนไลน์ ใช้สิทธิ์ได้ทุกที่ทุกเวลา
- ปี 2008 e-Health ระบบบริการสุขภาพ แพทย์และคนไข้เข้าถึงข้อมูลสุขภาพได้ 95%
- ปี 2014 e-Residency พลเมืองทั่วโลกเข้าถึงบริการรัฐบาลเอสโตเนียเท่าเทียมกับพลเมืองเอสโตเนีย เปิดบริษัทออนไลน์ได้ในเวลา 18 นาทีเพียงมีบัตรประชาชนและอินเตอร์เนท มีผู้เข้าร่วม 45,000 คน กระจายไป 154 ประเทศทั่วโลก
- ปี 2019 วางแผนเพื่อใช้ AI เต็มรูปแบบและสร้าง e-state ที่ให้บริการพื้นฐานต่างๆเป็นระบบดิจิทัลอย่างสมบูรณ์ในอนาคต
ผลลัพท์
World Economic Forum ยกให้เอสโตเนียเป็นประเทศที่เหมาะกับการตั้งต้นธุรกิจ อันดับ1ของยุโรป ในปี 2017ประชากรกว่า 30% ของประเทศ เชี่ยวชาญงานเทคโนโลยีและนวัตกรรมเป็นต้นกำเนิดสตาร์ทอัพ Skype,Bolt (คล้าย Uber) ,TransferWise (โอนเงินข้ามประเทศไม่ผ่านธนาคารกลาง)การพัฒนาทางดิจิตัลนี้ช่วยย่นย่อเวลาการทำงานได้ถึง 1407 ปี!28 ปีที่แล้ว (1993) รายได้ต่อหัว เอสโตเนีย 7,000 บาท/เดือน ไม่ต่างกับไทยมากนักที่ 5,700 บาท/เดือน ปัจจุบัน (2019) รายได้ต่อหัว เอสโตเนีย 60,000 บาท/เดือน ในขณะที่ไทย 20,000 บาท/เดือน20 กว่าปีผ่านไป คนเอสโตเนียมีรายได้เฉลี่ยต่อหัวมากกว่าคนไทยถึง 3 เท่า !! อ่านเรื่องของเอสโตเนียจบแล้ว เราเองก็หวังว่าวันหนึ่งจะได้อ่านผลงานรัฐบาลไทยสองปีในสองนาที แล้วหอบเหนื่อยบ้างเช่นกัน
Reference
https://www.researchgate.net/…/275543888_Knowledge…The Age of Discontinuity; Guidelines to Our Changing Society (1969)https://www.semanticscholar.org/paper/Knowledge-Based-Economy-In-The-European-Union-–-Skrodzka/09df619142554720cb7c4f9bc94af816c9ef36ebhttps://www.researchgate.net/…/275543888_Knowledge…https://issuu.com/…/oecd_economic_review_slovak_republi/2http://www.thailandindustry.com/indus…/news_preview.php…https://www.stlouisfed.org/…/how-south-korea-economy…https://www.usatoday.com/…/richest-countries…/35953213/https://www.longtunman.com/24641https://www.nia.or.th/20thEstoniahttps://hr.tcdc.or.th/…/Detail/Estonia-CEA-Forum-2019