Design code จำเป็นแค่ไหนในเมืองอนุรักษ์

เมื่อพูดถึงรูปลักษณ์หน้าตาอาคารที่พักอาศัยในปัจจุบัน ต่างเชื้อชาติต่างภูมิภาคก็จะมีความคิด การออกแบบแตกต่างกันไป บ้านมักจะตอบสนองความพึงพอใจของผู้อยู่อาศัยเป็นหลัก ไม่ว่าจะรูปร่าง หน้าตา การใช้สอย

แต่หากมองย้อนไปในอดีต บ้านไม่ได้เป็นสิ่งที่ยืดหยุ่นมากนัก ความสัมพันธ์ของบ้านกับวัฒนธรรม กับเมือง, อำนาจ และตัวแปรหลักอย่าง ภูมิประเทศ, ภูมิอากาศ, วัสดุก่อสร้าง เป็นสิ่งสำคัญกว่า การนำเสนอตัวตนของผู้อยู่อาศัย และเมื่อพูดถึงการออกแบบอาคารพักอาศัยให้สอดคล้องกับบริบทเมืองอนุรักษ์อย่างเชียงใหม่ก็อาจจะต้องตะล่อมจากที่ไกลๆ เข้ามาก่อนจะถึงประเด็นนี้

ถ้าพูดถึงประเทศที่มีจำนวนแหล่งมรดกโลก (World Heritage Site) มากลำดับต้นๆ อย่าง อิตาลี จีน เยอรมัน สเปน ฝรั่งเศส อินเดีย เม็กซิโก อังกฤษ ฯลฯ เราก็จะนึกไปถึง ปราสาท พระราชวัง เมืองโบราณ เศษซากทางสถาปัตยกรรม หรือแหล่งมรดกทางธรรมชาติ แต่มีอีกส่วนหนึ่งที่น่าจะพาเราพูดต่อไปถึงประเด็นการออกแบบได้ นั่นก็คือ Living Heritage Site หรือ #แหล่งมรดกที่ยังมีการอยู่อาศัย

#เอกลักษณ์หรือไร้รสชาติขาดอัตลักษณ์
เรามักจะเคยเห็นภาพเมืองบ้านเมืองที่มีสีน้ำตาล,ส้มหรือเทาหม่น คลุมไปด้วยหลังคากระเบื้องดินเผาสีเดียวกันเชื่อมอาคารทุกหลังให้พระเอกสายลับขึ้นไปไล่ยิงตัวร้าย หรือวิ่งไล่ในซอกซอยที่หน้าตาอาคารเหมือนกันจนหลงทาง กว่าจะมีชาวบ้านที่ไม่รู้ร้อนหนาวชี้ทางให้ เหล่านี้เป็นภาพจำจากหนังที่เราเคยดู และภาพจำของอาคารอนุรักษ์ในย่านเมืองเก่าเช่นกัน ส่วนหนึ่งทำให้รู้สึกว่าเป็นเอกลักษณ์ของเมือง อีกส่วนหนึ่งก็ทำให้รู้สึกถึงความไร้รสชาติขาดอัตลักษณ์

ไม่ได้เป็นแบบนั้นเสียหมดในทุกที่ ยังมีเมืองที่โดดเด่นด้วยการวางผังรูปทรงแปลกๆ เมืองที่ตั้งเรียงรายบนเนินเขา หรือ เมืองที่มีบ้านสลับสีสันจนลายตา หลายๆเมืองมีสิ่งที่เป็นเอกลักษณ์น่ารักษาไว้ แต่ก็มีอีกรูปแบบหนึ่ง คือ เมืองที่เคยมีกฎการออกแบบอาคารในอดีต ไม่ว่าจะหลวมๆหรือชัดเจนก็นับเป็นรูปแบบอำนาจทางวัฒนธรรมที่มีผลต่อรูปลักษณ์ของเมืองที่น่าสนใจส่งต่อมาถึงยุคปัจจุบัน ยกตัวอย่างเช่น

#แม่แบบอาคารโรมัน
อาคารพักอาศัยซ้อนชั้น Palazzo ของโรมัน ที่มีระบบ Order เริ่มตั้งแต่โครงสร้าง 3 ชั้น เรียงระดับความละเอียดของหินของชั้นล่าง ขึ้นไปเป็นอิฐบนชั้นต่อไป ขนาดสัดส่วนของหน้าต่างในแต่ละชั้น ละเอียดถึงรูปแบบของจั่วหน้าต่างที่ต้องต้องวางเป็นระบบหรือสลับเป็นแบบแผน เหล่านี้เป็นรูปแบบที่บังคับสำหรับอาคารสูงแบบแรกๆที่สร้างขึ้นจำนวนมากในเมืองการค้าที่ผู้คนอยู่อาศัยหนาแน่น ความสำคัญของระบบการก่อสร้างเพื่อความปลอดภัย ก็จะเป็นแม่แบบหลักที่แทบไม่มีใครแหกขนบไปทำแบบอื่นๆ

#ผังบ้านแบบจีน
บ้านสี่ประสาน ซี่อเหอหยวน (四合院) ของจีนที่พบเห็นมาตั้งแต่ราชวงศ์โจว เป็นบ้านล้อมกรอบ 4 ทิศ สำหรับอยู่อาศัยเป็นครอบครัว มีพื้นที่โล่งกลางบ้าน อาคารล้อมรอบแบ่งเป็นห้องต่างๆที่มีพื้นที่ใช้สอยชัดเจน ระเบียบการใช้พื้นที่แทบจะเหมือนกันทุกครอบครัวด้วยวัฒนธรรมการใช้ชีวิตแบบขงจื๊อ และเกิดจากการจัดสรรปันส่วนที่ดินสร้างบ้านในเขตเมืองเป็น 4 เหลี่ยมผืนผ้าเท่าๆกันจากอำนาจรัฐ กฏบังคับใช้ในการสร้างบ้านในอดีต เป็นผลมาจาก สภาพแวดล้อม สภาพสังคม เทคโนโลยีและวัศดุการก่อสร้างในยุคนั้น วัฒนธรรม เศรษฐกิจ การค้า เป็นตัวซักพาเอารูปแบบและวิถีการดำเนินชีวิตมาเป็นส่วนประกอบหนึ่งของอาคาร ส่วนความเป็นปัจเจกชนที่อยู่อาศัยในนั้นแทบจะเป็นปัจจัยรองลงมา

#เอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ถ้าถามถึงรูปแบบอาคารพักอาศัยเฉพาะในอดีต แน่นอนว่าเอกลักษณ์ร่วมของเราคือบ้านไม้ อาจจะมีแปลกแตกต่างไปบ้างตามสภาพภูมิภาคเฉพาะ บนเขา กลางที่ราบ หรือพื้นที่มรสุม ติดทะเล แต่ล้วนแล้วแต่ใช้ไม้ในการก่อสร้าง

แรกเริ่มเดิมที ใช่ เราใช้หินและปูนเป็น แต่การที่ต้องแลกมากับกำลัง แรงงาน และราคาที่ต้องจ่าย สถาปัตยกรรมที่ได้สร้างขึ้นด้วยหินดินปูนนั้น จะเป็นอาคารทางศาสนา ที่เป็นพื้นที่ทางสังคม รวบรวมแรงงานเพื่อความศรัทธา หรืออำนาจการปกครอง มากกว่า บ้านซึ่งใช้เป็นเพียงแค่ที่หลับนอน ก็จะทำอย่างง่ายๆ จากไม้ไผ่ หรือไม้เนื้ออ่อนถึงปานกลาง ที่พอจะจัดการด้วยกำลังคนน้อยๆได้

จากประสบการณ์การใช้ไม้ และการค้าขาย ติดต่อ แลกปลี่ยนวัฒนธรรมจากประเทศจีน เราก็ได้มีเทคโนโลยีการใช้ไม้ที่ซับซ้อนมากขึ้น บ้านไม้ของเราก็ซับซ้อนมากขึ้น การจัดสรรพื้นที่ความเป็นส่วนตัวก็พัฒนาเป็นระบบ จนมีรูปแบบเป็นเรื่อนไม้แบบต่างๆ ที่พอจะมีแบ่งตามภูมิภาคและความนิยม

#บ้านไม้ล้านนาหายไปไหน
เดินกลับมาที่เชียงใหม่ ถ้าเป็นตามที่ว่ามาจริง แล้วบ้านไม้ในเมืองเชียงใหม่หายไปใหนหมด มีเหลือบ้างแต่ก็น้อยลงเติมที ที่ยังเหลืออยู่ก็เป็นเพราะการอนุรักษ์ เพราะเป็นอาคารสำคัญทางประวัติศาสตร์ อื่นๆก็มีอยู่บ้าง ถูกต่อเติม หรือ รื้อหายไป กลายเป็นอาคารก่ออิฐ,คอนกรีต แบบสมัยนิยม ทั้งบ้าน ร้านค้า อาคารสาธารณะ…แล้วบ้านไม้หายไปใหน

ย้อนอดีตหลายร้อยปีก่อน แน่นอนตอนนั้นชาวล้านนา สร้างบ้านด้วยไม้ และไม้ที่เรามีมากและสะดวกต่อการใช้งานมากที่สุดคือไม้สัก เพราะต้นตรง ปลูกขึ้นง่าย ไม่เปลืองที่ เสี้ยนละเอียด เนื้ออ่อนแต่เหนียวแน่น ตัดแต่งด้วยขวาน มีด และแกะสลักได้ดี ไม่ได้เป็นไม้ราคาสูงเหมือนที่เราติดภาพทุกวันนี้ แต่จะด้วยวัสดุที่ดีเพียงใดความยั่งยืนต้องพึ่งพาความต่อเนื่อง

ในปี 2101 พม่าเข้ายึดพื้นที่ล้านนาและเป็นพื้นที่สงครามกับสุโขทัยยาวนาน ถึงปี 2306 พม่ากลับมาอีกครั้งกวาดเอาชาวเมืองกลับไปจนหมด เป็นเมืองร้าง คำว่าร้างในที่นี้ก็ยังคงมีชาวบ้านหลงเหลืออยู่บ้าง แต่ที่พม่าพาไปก็จะเป็นพวกแรงงานฝีมือช่างที่รู้ความ หลงเหลือไว้ก็คงไม่มาก ต่อมาในปี 2319 พม่าก็กลับมาทำสงครามอีกครั้งกับพระยากาวิละและทัพพระเจ้าตากสิน ถึงครั้งนั้นพม่าจะแพ้ถอยทัพไป แต่ด้วยเมืองที่มีประชากรเหลือไม่มาก ป้องกันตัวเองจากภัยสงครามไม่ได้ นโยบายตอนนั้นของพระเจ้าตากสินคือ ทิ้งเชียงใหม่ให้เป็นเมืองร้าง ก่อนที่พระเจ้ากาวิละจะนำชาวบ้านกลับมาสร้างเมืองอีกครั้งใน 15 ปีต่อมา

นับเป็นช่วงเวลาประมาณ 230 ปีที่เกิดความโกลาหลในพื้นที่ และถึงขั้นกลายเป็นเมืองร้างถึง 2 ครั้ง ความต่อเนื่องเชิงช่าง ความสัมพันธ์กับพื้นที่ได้ขาดหายไปหลายชั่วอายุคน

ในเวลาต่อมาอาณานิคมอังกฤษก็เข้าประชิดล้านนา ช่วงปี 2400 เป็นต้นไป ก็ถึงคราวของ มิชชันนารี และ บริษัทค้าไม้อย่าง บอร์เนียว, บอมเบย์ เข้ามามีอิทธิพลต่อเชียงใหม่ จากไม้สักที่เป็นวัสดุธรรมดา แต่กลับกลายเป็นไม้มีค่าในสายตาของ ชาวจีน และชาวยุโรป

“ตื่นไม้สัก” ด้วยกระแส Exotic wood จากยุโรปทำให้ไม้สักเป็นสินค้าที่ต้องส่งออก อังกฤษและสยามเข้ามาค้าไม้ในล้านนา กลายเป็นว่า วัสดุที่หาได้ทั่วไปกลายเป็นมีเจ้าข้าวเจ้าของขึ้นมา ชาวบ้านก็ต้องหันไปใช้ตัวเลือกอื่นที่เหนื่อยยิ่งกว่า “ไม้เนื้อแข็ง” เต็ง ประดู่ มะขาม มะค่า จากเดิมที่ใช้เป็นด้ามอุปกรณ์ ทำเกวียน ใช้บ้างในอาคารส่วนที่ต้องค้ำต้องแข็งแรง กลายเป็นเป็นวัสดุหลัก ต้องพัฒนาอุปกรณ์ฟันเลื่อยต่างๆที่ใช้งานร่วมกันจากเทคโนโลยีที่มาจากต่างชาติ ได้อย่างเสียอย่าง จากการแกะสลักง่ายๆด้วยไม้สัก ก็ต้องลงแรงอย่างมากกับไม้เนื้อแข็ง อาคารไม้ก็ลดความวิจิตรลง

ต่อมาไม่นานก็ต้องถูกผนวกรวมเข้ากับสยาม ในปี 2462 ก็มีการนำระบบการก่อสร้างแบบก่ออิฐฉาบปูนทั้งพื้นผนังเข้ามา สร้างอาคารศาลาว่าการรัฐบาลมณฑลพายัพ (หอศิลปวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่) ชาวบ้านเรียกกันว่าง “ตึกฝรั่ง” จากนั้นกระบวนทัศน์ การรับรู้เรื่องอาคาร ก็ค่อยๆเปลี่ยนแปลง

ไม้ดีๆเป็นของแพง
ไม้เนื้อแข็งที่ตัดแต่งใช้งานได้ยาก แต่ก็ทนแดดทนฝน และเมื่อไม้เนื้อแข็งก็ลัดขึ้นตอนการก่อสร้างที่ต้องถ่ายน้ำหนักหลายชั้น เช่น จาก คาน รอด ตง พื้น ก็เป็น คาน ตง พื้นได้เลยทันที และรูปแบบอาคารที่ไม่ต้องอิงกับเชิงช่างเสมอไป ก็ก่อให้เกิดอาคารไม้แบบง่ายๆ หรือครึ่งอิฐครึ่งปูน เพราะข้อดีของพื้นผนังปูน ที่ไม่ต้องยกสูงหนีความชื้นหรือหนีน้ำนอง ผนังที่กันฝนได้ดี กว่ากระดานไม้ ก็ทำให้ปีกหลังคาลดความสำคัญลงไป
ไม้จากเดิมที่เคยเป็นวัสดุหลักก็ลดทอนตัวเองกลายเป็น ฝากั้นห้อง วงกบ ขื่อ คาน จันทัน และค่อยๆหายไปตามแต่ละยุค
.
#เมืองอนุรักษ์กับอาคารสมัยใหม่และเทศบัญญัติ
ด้วย ปัจจัยหลายๆ อย่างที่ทำให้สถาปัตยกรรมท้องถิ่นในเมืองเชียงใหม่จางหายไป
แล้วอะไรที่เป็นแนวทางในการสร้างสรรค์อาคารบ้านเรือนในบริบทเมืองอนุรักษ์นี้
ด้วยเมืองที่เต็มไปด้วยอาคารสมัยใหม่ที่ไม่ได้มีเอกลักษณ์ร่วมกันซักเท่าไร
และกฏหมายห้ามรื้อถอนสร้างของ เทศบัญญัติเทศบาลนครเชียงใหม่ปี 2557
หรือมันจะจบลงที่การทาสีน้ำตาล,ขาวนวล ปรับหลังคาจั่วในองศาที่เหมือนกัน ตามที่เทศบัญญัติว่าไว้

บทความโดย ปิยะพงศ์ ฉั่วตระกูล