ถ้าเชียงใหม่ไม่พึ่งการท่องเที่ยว แล้วควรพึ่งอะไร

จังหวัดเชียงใหม่

เชียงใหม่ เปรียบเสมือนเมืองหลวงของภาคเหนือ จัดเป็นเมืองใหญ่อันดับที่ 2 ของประเทศไทยรองจากกรุงเทพมหานครฯ มีพื้นที่ 20,107 ตารางกิโลเมตรมีพื้นที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 รองจากนครราชสีมา เชียงใหม่มีการเจริญเติบโตทางด้านธุรกิจอยู่สองส่วนใหญ่ๆ คือ ส่วนของตัวเมืองเชียงใหม่ และส่วนนอกเมืองเชียงใหม่

เชียงใหม่และการท่องเที่ยว

ในอดีตและปัจจุบัน เศรษฐกิจเชียงใหม่ถูกขับเคลื่อนด้วยรายได้จากการท่องเที่ยว จังหวัดเชียงใหม่เป็นจังหวัดที่ได้รับการสนับสนุนด้านการท่องเที่ยวมาอย่างต่อเนื่อง และเป็นเมืองท่องเที่ยวอันดับต้นๆ ของไทยมาอย่างยาวนาน อีกทั้งเคยเป็นจังหวัดที่มีจำนวนนักท่องเที่ยวมากกว่าจังหวัดภูเก็ตนานนับ 10 ปี ในช่วงระหว่างปี พ.ศ.2531-2542 (กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา, 2561) เนื่องจากเชียงใหม่เป็นจังหวัดที่มีทรัพยากรการท่องเที่ยวที่ครบถ้วนทั้งด้านทรัพยากรท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่มีความพร้อมด้านการท่องเที่ยวมากเป็นลำดับที่ 9 ของประเทศ ทรัพยากรทางวัฒนธรรมที่มีความพร้อมสูงที่สุดเป็นลำดับที่ 1 ของประเทศ (ณัฐพล อนันต์ธนสาร และวรัญญา บุตรบุรี, 2561) ใน พ.ศ.2560 เชียงใหม่ได้รับการจัดอันดับจากเว็บไซต์ของนิตยสาร Travel and Leisure ของสหรัฐอเมริกา (The World’s Best Cities 2016) ให้เป็นเมืองน่าท่องเที่ยวอันดับ 3 ของโลก โดยมีความโดดเด่นคือเป็นเมืองที่มีกำแพงเมืองโบราณ (Old Walled City) และยังได้รับการคัดเลือกจากองค์การ UNESCO ให้เป็นสมาชิกเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ด้านหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน (UNESCO Creative City Network: Crafts and Folk Art) เมื่อปี พ.ศ.2560 อีกด้วย นอกจากเป็นเมืองที่มีสิ่งดึงดูดใจที่ครบถ้วนแล้วเชียงใหม่ยังมีความพร้อมในการรองรับการท่องเที่ยว ทั้งด้านโรงแรม ร้านอาหาร และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ที่ครบครัน จนได้รับการจัดอันดับให้เป็นเมืองที่สะดวกสบายอันดับ 2 ของกลุ่ม Digital Nomad หรือกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ทำงานโดยอาศัยดิจิทัลเทคโนโลยีเป็นหลักในปี พ.ศ.2561 (https://nomadlist.com/, 2019) เรียกได้ว่าเป็นเมืองที่ครบเครื่องเรื่องการท่องเที่ยวก็ว่าได้

เศรษฐกิจเชียงใหม่

ปัจจุบันเชียงใหม่มีประชากร ประมาณ 1.7 ล้านคนโดยมีรายได้เฉลี่ยต่อหัวต่อปีเท่ากับ 136,000 บาท ในปี 2560 มูลค่าเศรษฐกิจของจังหวัดเชียงใหม่เท่ากับ 231,726 ล้านบาท โดยเป็นรายได้จากการท่องเที่ยวถึง 43% ของมูลเศรษฐกิจทั้งจังหวัด โดยเป็นรายได้จากนักท่องเที่ยวชาวไทย 60% และต่างชาติ 40% จากรายได้จากการท่องเที่ยวทั้งจังหวัด 2 เดือนแรกในปี พ.ศ. 2562 จำนวนนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติมีจำนวนประมาณ 2.08 ล้านคน สร้างรายได้จากการท่องเที่ยวได้ 22,200 ล้านบาท และในปี พ.ศ. 2563 ใน 2 เดือนแรกจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งหมดลดลง 16% เหลือเพียง 1.74 ล้านคน สร้างรายได้จากการท่องเที่ยวลดลง 18% เหลือเพียง 18,150 ล้านบาท จากการแพร่ระบาดของ COVID-19

จากตัวเลขที่กล่าวมาทำให้พื้นที่เศรษฐกิจของเชียงใหม่ ที่มีรายได้หลักจากการท่องเที่ยวเช่น นิมมานเหมินท์, ท่าแพ, ลอยเคราะห์ ฯลฯ ได้รับผลกระทบอย่างหนัก มีการปิดกิจการ การเปลี่ยนแปลงธุรกิจอย่างมากมาย ทำให้เกิดคำถามอย่างแพร่หลายว่า เชียงใหม่ควรพึ่งการท่องเที่ยวเป็นหลักจริงหรือไม่ ซึ่งอาจจะมีตัวเลือกอื่นที่เหมาะสม หรือมาช่วยให้เชียงใหม่พึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยวน้อยลง เพื่อให้เศรษฐกิจนั้นมีความมั่นคงเมื่อเกิดวิกฤตอย่างการแพร่ระบาดของ COVID-19

เชียงใหม่มีรายได้จากด้านอื่นอีกหรือไม่

นอกจากรายได้จากการท่องเที่ยวแล้ว อันดับสองรองลงมาเป็นรายได้จากการเกษตร โดยมาจากผลผลิตการเกษตรเช่น ลำไย ข้าวนาปี ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ข้าวนาปรัง หอมแดง และมันฝรั่งโรงงาน ซึ่งการเกษตรได้มีการนำการท่องเที่ยวเข้าไปสร้างรายได้เพิ่มเติมด้วย เช่นการท่องเที่ยวฟาร์ม หรือไร่ พร้อมกับเก็บผลผลิตสดๆ จากไร่ และยังมีรายได้อื่น เช่นการจัดจำหน่ายสินค้าให้กับประเทศเพื่อนบ้าน ธุรกิจการขายส่งสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ร้านสะดวกซื้อ วัสดุก่อสร้าง การรักษาพยาบาล การขายเครื่องประดับ

เชียงใหม่มีอะไรดีบ้าง ?

คุณภาพการใช้ชีวิตที่เหมาะสม
เชียงใหม่ได้ขึ้นชื่อว่าเป็นเมืองที่มีค่าครองชีพที่ไม่สูงมากนัก เหมาะสมสำหรับการอยู่อาศัย ใช้เวลาเพียงไม่กี่นาทีก็สามารถออกไปสัมผัสธรรมชาติและท่องเที่ยวเพื่อผ่อนคลายได้แล้ว รวมถึงอาหารที่มีให้เลือกหลากหลาย ผัก ผลไม้ที่สดส่งตรงจากไร่ ฟาร์มที่อยู่ในจังหวัดและจังหวัดที่ใกล้เคียง ทำให้ชาวต่างชาติยกให้เชียงใหม่เป็น เมืองหลวงสำหรับ Digital Nomad (กลุ่มคนทำงานด้านเทคโนโลยีที่จะย้ายไปยังเมืองต่างๆ) ซึ่งพิจารณาจากโครงสร้างขั้นพื้นฐานนั้น เชียงใหม่มีโครงสร้างพื้นฐานที่พอใช้ได้ มีความเร็วอินเทอร์เน็ตที่ดี คุณภาพอากาศแย่ในบางช่วงจาก PM 2.5 แต่ส่วนใหญ่ก็เป็นอากาศที่เย็นสบาย การอยู่อาศัยไม่แออัด ซึ่งใครสนใจดูคะแนนด้านต่างๆ ของเชียงใหม่ในมุมมองของชาวต่างชาติสามารถดูได้จากภาพประกอบ (ขอบคุณข้อมูลจาก Nomadlist)

ด้านการศึกษา
เชียงใหม่มีมหาวิทยาลัยเด่นคือ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นมหาวิทยาลัยที่เก่าแก่และสร้างบุคลากรให้กับประเทศไทยมากมาย พร้อมทั้งยังมีหลักสูตรที่เป็นนานาชาติต้อนรับนักศึกษาจาก จีน และชาติอื่นๆ อีกมากมาย นอกจากนี้ในเชียงใหม่ยังมีมหาวิทยาลัย วิทยาลัย โรงเรียน โรงเรียนนานาชาติที่หลากหลาย เช่น มหาวิทยาลัยแม่โจ้ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ซึ่งสร้างบุคคลที่มีคุณภาพเพื่อตอบรับการธุรกิจต่างๆ โดยมหาวิทยาลัยและสถานศึกษาในเชียงใหม่ผลิตบุคลากรด้านเทคโนโลยี การออกแบบ การเกษตร ออกมาต่อปีจำนวนหลายหมื่นคน

สนามบิน
สนามบินนานาชาติเชียงใหม่ มีอัตราการเติบโตที่สูงมากก่อนการแพร่ระบาดของ COVID-19 โดยในปี พ.ศ. 2559 สนามบินนานาชาติเชียงใหม่มีจำนวนเที่ยวบินต่อปีสูงถึง 69,202 ไฟต์ต่อปี หรือคิดเป็น 190 ไฟต์ต่อวัน และถ้านับเป็นจำนวนคนที่ใช้งานคิดเป็นคนไทยถึง 6.45 ล้านคนต่อปี และชาวต่างชาติ 2.83 ล้านคนต่อปี พร้อมทั้งยังมีเส้นทางตรงไปยังเมืองใหญ่ๆ ได้หลายเมือง มีไฟต์ตรงไปยังโดฮาซึ่งทำให้สามารถต่อเครื่องไปยังสหรัฐอเมริกา หรือยุโรปได้ ทำให้สนามบินเชียงใหม่เป็นสนามบินอันดับต้นๆ ของไทยที่ได้รับความนิยมและใช้งานมากที่สุด

แล้วเชียงใหม่ทำอะไรดีถ้าไม่ใช่การท่องเที่ยว

การเกษตรยั่งยืน เกษตรอินทรีย์ เกษตรปลอดภัย เชื่อมโยงสู่อุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปที่สร้างมูลค่าเพิ่มสูง
จากรายได้รองจากการท่องเที่ยวของเชียงใหม่ จะเห็นว่ารายได้ที่รองลงมาคือการเกษตร โดยเชียงใหม่มีสภาพภูมิอากาศ พื้นที่ และน้ำ ที่เหมาะสมสำหรับการทำการเกษตรบนที่สูง มีการทำเกษตรยั่งยืน เกษตรอินทรีย์ เกษตรปลอดภัย อยู่หลากหลายจุด ในเมืองเชียงใหม่ปัจจุบันมีผลผลิตเกษตรอินทรีย์ เกษตรปลอดภัย จำหน่ายอยู่หลากหลายจุด และมีการส่งออกไปขายในจังหวัดต่างๆ ในประเทศไทยอีกด้วย การผลักดันและ ช่วยเหลือเกษตรกรในด้านเอกสาร ความรู้ เกี่ยวกับเกษตรอินทรีย์ เกษตรปลอดภัย จะทำให้เชียงใหม่เป็นผู้ส่งออกเกษตรอินทรีย์ไปยังตลาดต่างประเทศที่มีความต้องการได้ สามารถสร้างรายได้ที่เพิ่มขึ้นให้กับเกษตรกร การจ้างงานทั้งเรื่องของแรงงานในฟาร์ม และการจ้างนักวิชาการ นักวิจัย เพื่อมาพัฒนาและตรวจสอบ และทำให้เศษฐกิจโดยรวมของเชียงใหม่นั้นดีขึ้น

เศรษฐกิจสร้างสรรค์ สร้างสรรค์ผลงานที่น่าสนใจ กระจายรายได้สู่ชุมชน
ศูนย์ความรู้ด้านการออกแบบ และความคิดสร้างสรรค์เชียงใหม่ (TCDC Chiang Mai) ที่มีขนาดใหญ่ซึ่งพร้อมมอบความรู้ด้านการออกแบบ และความคิดสร้างสรรค์ให้กับผู้ประกอบการ นักศึกษา นักออกแบบ และบุคคลที่สนใจ การสนับสนุนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ธุรกิจสร้างสรรค์นั้นทำให้เกิดการสร้างอาชีพที่มากขึ้น เนื่องจากธุรกิจประเภทนี้มีสัดส่วนกำไรที่สูง ถ้าเชียงใหม่มีนักออกแบบที่ประสบความสำเร็จหนึ่งรายสามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชน หรือผู้คนที่อยู่ในพื้นที่ได้มากมาย ตัวอย่างนักออกแบบที่ประสบความสำเร็จจากการสร้างธุรกิจสร้างสรรค์ในเชียงใหม่เช่น PLAYWORK เล่นงาน ที่สร้างสรรค์ลายเส้น การวาดภาพ สนับสนุนนักออกแบบในท้องถิ่นสร้างเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่นสมุด ผ้าพันคอ กระเป๋า และสามารถส่งออกไปจัดจำหน่ายที่ประเทศต่างๆ รวมถึงมีสาขาที่ประเทศเกาหลีใต้อีกด้วย สร้างรายได้ให้กับชุมชนย่านสันทรายจำนวนมาก ถ้าหากเชียงใหม่มีธุรกิจสร้างสรรค์แบบนี้เพิ่มขึ้น แต่ละชุมชนหรือย่านก็จะมีรายได้ที่เพิ่มขึ้น สร้างงานสร้างมูลค่าทางธุรกิจมากมาย โดยมีตัวอย่างของนักออกแบบที่จังหวัดขอนแก่น ที่นักออกแบบ 1 คนสามารถสร้างงานให้กับคนในเพิ่มที่ได้เฉลี่ยถึง 8 คน

ธุรกิจด้านสุขภาพ และบริการ
เชียงใหม่ เป็นศูนย์กลางด้านการรักษาพยาบาลของภาคเหนือ มีโรงพยาบาล สถานพยาบาลมากมาย มีแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญมากมาย มีโรงพยาบาล และสถานพยาบาลที่หลากหลาย ประกอบด้วยมีสนามบินที่สามารถเชื่อมโยงเมืองใหญ่ๆ การสร้างให้เชียงใหม่เป็นศูนย์กลางในการรักษา หรือพักผ่อน ของชาวไทยและต่างชาติที่ต้องรักษาตัว ก็เป็นหนึ่งในแนวความคิดที่ไม่เลว รวมถึงสภาพแวดล้อมโดยทั่วไปของเชียงใหม่มีความผ่อนคลาย มีโรงแรมหรือที่พักนอกเมืองจำนวนมาก เมื่อนำธุรกิจต่างๆ มาร่วมกันสร้างเป็นบริการด้านการรักษาพยาบาลก็จะสร้างรายได้ให้กับจังหวัดเชียงใหม่ได้มาก ปัจจุบันประเทศไทยในภาคเอกชนได้มีการสร้างและผลักดันบริการให้เปรียบเสมือนเป็นศูนย์กลางการรักษาพยาบาลอยู่ เช่นเครือ BDMS ที่มีเครือข่ายโรงพยาบาลร่วมถึงฐานข้อมูลผู้ป่วย และพาร์ทเนอร์ที่เกี่ยวข้องต่างๆให้เป็นระบบ และพร้อมบริการแก่นักท่องเที่ยว หรือชาวต่างชาติที่ต้องการเข้ามารักษาในประเทศไทย

การพัฒนาซอฟต์แวร์และเทคโนโลยี
จากข้อมูลที่พบว่า Digital Nomad ยกให้เชียงใหม่เป็นดั่งเมืองหลวงของชาว Digital Nomad และยังมีชาวต่างชาติอีกมากมายที่มาปักหลักเปิดธุรกิจด้านซอฟต์แวร์และเทคโนโลยีในเชียงใหม่ ซึ่งเกิดจากปัจจัยต่างๆในเชียงใหม่เช่น ค่าครองชีพ อินเทอร์เน็ต โครงสร้างพื้นฐาน การจัดกิจกรรมของกลุ่มนักพัฒนาซอฟต์แวร์ทั้งชาวไทยและต่างชาติ การมีพื้นที่ Coworking Space จำนวนมาก ทำให้เชียงใหม่เป็นหนึ่งในพื้นที่ที่ทำชาวไทยและชาวต่างชาติอยากมาเปิดธุรกิจซอฟแวร์หรือเทคโนโลยีกันมากขึ้น
รวมถึงเชียงใหม่ผลิตนักศึกษาด้านเทคโนโลยีอย่างมากมาย แต่ด้วยโครงสร้าง และจำนวนบริษัทภายในเชียงใหม่ยังไม่มากพอให้กลุ่มคนเหล่านั้นอาศัย และทำงานอยู่ในเชียงใหม่ จึงมีการโยกย้ายไปยังกรุงเทพมหานคร หรือประเทศสิงคโปร์ซึ่งมีบริษัทเทคโนโลยีใหญ่ๆอยู่จำนวนมาก การผลักดันหรือช่วยเหลือให้บริษัทเทคโนโลยีเกิดขึ้นในเชียงใหม่ จะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจที่สูง เนื่องจากเป็นธุรกิจที่ใช้ต้นทุนหลักเป็นคนและความรู้ และยังเข้ากับยุคสมัยในปัจจุบันที่ทุกอย่างถูกปรับเปลี่ยนสู่ยุคอินเตอร์เน็ตอย่างเต็มตัว

ธุรกิจด้านการศึกษา
มหาวิทยาลัย วิทยาลัย สถานที่ศึกษา โรงเรียน ที่มีคุณภาพหลายแห่ง ทำให้ผู้ปกครองโดยเฉพาะภาคเหนือส่งลูกหลานมาเล่าเรียนที่เชียงใหม่เป็นจำนวนมาก ทั้งนี้ยังมีชาวต่างชาติที่ส่งลูกหลานหรือย้ายครอบครัวมาอาศัยอยู่เชียงใหม่ ทำให้เชียงใหม่มีโรงเรียนนานาชาติที่ได้รับการยอมรับต่อคนทั่วไปหลายแห่ง การพัฒนาให้เมืองเชียงใหม่ที่มีสถานศึกษาจำนวนมากอยู่แล้ว ให้สามารถขยายหรือปรับเปลี่ยนเป็นธุรกิจเพื่อการศึกษา การสร้างบทเรียนระยะสั้น บทเรียนเพื่อการอาชีพ หรือการเรียนด้านการกีฬา ก็สามารถสร้างรายได้และสร้างบุคลากรเก่งๆ มาเพื่อให้ตอบรับกับธุรกิจที่พัฒนาได้อีกด้วย

ทั้งนี้เชียงใหม่จะทำอะไรดีก็คงต้องขึ้นอยู่กับนโยบายทั้งภาครัฐและเอกชน การได้รับการสนับสนุนต่างๆ จากทางรัฐและภาคเอกชน การช่วยเหลือกันของทุกคนในเชียงใหม่ การปรับตัวมองหาความเป็นไปได้ใหม่ๆ การสร้างพื้นที่ให้มีธุรกิจที่หลากหลายพึ่งพาอาศัยกัน การสร้างและคิดเป็นระบบ และเชื่อมโยงกันอาจจะเป็นแนวทางที่ทำให้เชียงใหม่เราพัฒนา และผ่านทุกวิกฤตไปได้อย่างแน่นอน

คุณคิดว่าเชียงใหม่ควรทำอะไรถ้าไม่ใช่การท่องเที่ยว พูดคุยกับเราได้ที่นี่

foo

Reference

https://www.ddproperty.com/areainsider/%E0%B9%80%E0%B8%8A%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%87%E0%B9%83%E0%B8%AB%E0%B8%A1%E0%B9%88/article/%E0%B8%A3%E0%B8%B9%E0%B9%89%E0%B8%88%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B9%80%E0%B8%8A%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%87%E0%B9%83%E0%B8%AB%E0%B8%A1%E0%B9%88%E0%B9%81%E0%B8%9A%E0%B8%9A%E0%B9%80%E0%B8%88%E0%B8%B2%E0%B8%B0%E0%B8%A5%E0%B8%B6%E0%B8%81-9433
https://www.longtunman.com/22231
http://www.igreenstory.co/coundownpm2-5chiengmai/
https://thaipublica.org/2018/01/changmai-model-northern-4-0/
https://www.prachachat.net/local-economy/news-614980
http://chiangmai.nso.go.th/index.php?option=com_content&view=article&id=530:tourism&catid=124&Itemid=639
https://nomadlist.com/
https://www.freedomiseverything.com/chiang-mai-guide-for-digital-nomads/
https://digitalnomads.world/city-guide/chiang-mai/
https://www.thaipbsworld.com/chiang-mai-the-capital-of-digital-nomads/
https://chiangmaibuddy.com/chiang-mai-best-place-for-digital-nomads/
http://mis-app.oae.go.th/area/%E0%B8%A5%E0%B8%B8%E0%B9%88%E0%B8%A1%E0%B9%81%E0%B8%A1%E0%B9%88%E0%B8%99%E0%B9%89%E0%B8%B3/%E0%B9%81%E0%B8%A1%E0%B9%88%E0%B8%99%E0%B9%89%E0%B8%B3%E0%B8%81%E0%B8%81/%E0%B9%80%E0%B8%8A%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%87%E0%B9%83%E0%B8%AB%E0%B8%A1%E0%B9%88