โครงการพัฒนาย่านเดินได้เดินดี เพื่อยกระดับสุขภาวะคนเมือง นำร่องในพื้นที่เขตเทศบาลนครเชียงใหม่ ดำเนินการโดยศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC) ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านยุทธศาสตร์เมือง (CE.US) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับเทศบาลนครเชียงใหม่ หอศิลปวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่ ใจบ้านสตูดิโอ บริษัท ระฟ้า จำกัด กลุ่มเขียวสวยหอม เครือข่ายชุมชนเมืองรักษ์เชียงใหม่ กรรมาธิการสถาปนิกผังเมืองล้านนา สมาคมสถาปนิกผังเมืองไทย (TUDA) และคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ศูนย์วิจัยและนวัตกรรมการส่องสว่าง (LRIC) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี คณะศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคีพัฒนาย่านเดินได้เดินดีเชียงใหม่
1. การตีเส้นชั่วคราว คืออะไร เพื่ออะไร
.
การตีเส้นจราจรชั่วคราวเป็นการทดลองระยะเวลา 1 เดือน (6-30 พ.ค. 64) เพื่อทดสอบแนวคิดระบบการสัญจรของโครงการราชดำเนินเดินได้เดินดี โดยตีเส้นชั่วคราวแบ่งเป็นช่องทางรถยนต์-รถจักรยานยานต์ ช่องทางสำหรับจอดรถยนต์ ช่องทางจักรยาน และแนวการขยายทางเท้าใหม่ ทั้งนี้ เป็นไปตามข้อตกลงร่วมกันจากกระบวนการร่วมหารือและรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่และผู้สนใจ
.
กิจกรรม “ลองดู” เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาย่านเดินได้เดินดี เพื่อยกระดับสุขภาวะคนเมือง นำร่องในพื้นที่เขตเทศบาลนครเชียงใหม่ มีเป้าหมายสำคัญเพื่อปรับปรุงคุณภาพทางเท้าและภูมิทัศน์ของถนนราชดำเนิน เทศบาลนครเชียงใหม่ ให้เดินสะดวก เดินปลอดภัย และน่าเดิน โดยแนวทางการปรับปรุง ประกอบด้วย
.
1. นำสายไฟฟ้าลงดิน เพื่อเน้นความสวยงามสู่วัดพระสิงห์ ดอยสุเทพ และประตูท่าแพ
2. ปลูกต้นไม้เพิ่มเติม เพื่อให้เดินสบาย น่าเดิน ร่มรื่น ร่มเย็น
3. ขยายขนาดทางเท้าให้กว้าง เรียบ เดินสบายปลอดภัย กว้างพอให้รถเข็นผู้พิการผ่านได้ และผู้สูงอายุเดินสะดวก พร้อมออกแบบทางเท้าให้สวยงาม
4. ส่งเสริมการใช้จักรยานที่ปลอดภัย
5. มีที่จอดรถยนต์ชั่วคราวสำหรับร้านค้าข้างทาง
2. ทำไมต้องจัดการจราจรแบบใหม่ ?
.
ปัจจุบันทางเท้าถนนราชดำเนินมีความกว้างเฉลี่ย 1 – 1.5 เมตร ไม่สอดคล้องกับมาตรสากลที่ไม่ควรกว้างต่ำกว่า 1.5 เมตร หรือประมาณคนสองคนเดินสวนกันโดยไหล่ไม่ชนกัน ทั้งยังพบปัญหาเดินไม่ต่อเนื่อง เดินสะดุด เดินขึ้นๆ ลงๆ พื้นผิวไม่ได้คุณภาพ เรียกได้ว่า คุณภาพไม่สมกับเป็นทางเท้าบนถนนเส้นประวัติศาสตร์
.
ขณะที่ผิวการจราจรของรถยนต์และรถจักรยาน มีขนาดความกว้างถึง 8-10 เมตร โดยเป็นการสัญจรแบบสองทาง และมีการจอดรถริมถนนทั่งสองฝั่ง สลับวันคู่-วันคี่
.
นี่คือโอกาสที่รถยนต์จะแบ่งปันขนาดทางที่กว้าง มาให้คนเดิน และคนขี่จักรยาน และเป็นไปตามหลักการของการพัฒนาเมืองที่ส่งเสริมการเดิน กล่าวคือ ‘การพัฒนาสิทธิความเท่าเทียมกันของคนในเมือง’
.
หากยึดมาตรฐานถนนในย่านประวัติศาสตร์ ที่กำหนดขนาดช่องทางสัญจรของรถยนต์ที่ระหว่าง 3.25-3.75 เมตร ก็จะมีพื้นที่เหลือแบ่งให้คนเดินและคนปั่นจักรยานใช้งานได้เพิ่มขึ้นถึง 1-3 เมตร
.
นำมาสู่ 2 ทางเลือกจากการหารือกับประชาชนในพื้นที่ช่วงต้นเดือน มี.ค. 64
.
ทางเลือกที่ 1: เดินรถสองทางเหมือนเดิมแต่ไม่อนุญาตให้จอดรถริมถนน
ทางเลือกที่ 2: เดินรถทางเดียว แล้วคงที่จอดรถริมถนนไว้ และเพิ่มเลนจักรยาน 1 เลน
.
ผลปรากฏว่าทางเลือกที่ 2 ได้เสียงสนับสนุนมากกว่า เนื่องจากไม่ส่งผลกระทบต่อร้านค้าริมทาง ที่ยังต้องการให้คงที่จอดรถเอาไว้ นำมาสู่กิจกรรม “ลองดู” ระยะเวลา 1 เดือน เพื่อทดลองใช้จริงและเก็บความเห็นของผู้ใช้งานสู่การพัฒนาโครงการต่อไปในอนาคต
3. ทดลองเดินรถทางเดียวบนถนนราชดำเนินจะเวิร์คหรือไม่ เพราะก่อนหน้านี้ถนนนิมมานเมหินท์ก็ยกเลิกไปแล้ว?
.
จากการหารือระหว่างประชาชนในพื้นที่ เทศบาล พนักงานจราจร และคณะทำงาน ต้นเดือน มี.ค.64 ที่ผ่านมา คิดว่าถนนราชดำเนินมีโอกาสในการขยายทางเท้าโดยการจัดระบบเดินรถทางเดียว ผสมผสานกับที่จอดรถริมถนนและทางจักรยาน เนื่องจาก
.
1.ปริมาณรถของถนนเส้นนี้น้อยเมื่อเทียบกับเส้นอื่น จากข้อมูลการจราจรของเทศบาล ถนนราชดำเนินมีปริมาณการสัญจรต่อวัน ประมาณ 6,000 คัน/วัน เมื่อเทียบกับถนนเส้นอื่น อาทิ ถนนคูเมืองชั้นนอก 50,000 คัน/วัน ถนนท่าแพ 9,000 คัน/วัน เป็นต้น
.
2. ขนาดบล็อกในเขตเมืองเก่าเชียงใหม่ มีขนาดไม่ใหญ่ ทำให้ถนนแนวขนานมีระยะห่างไม่มาก เพียง 300-500 เมตร (ทั้งอยู่ในระยะเดินเท้ามาตรฐานทั้งของไทยและของโลก) ทำให้การวนรถไม่ลำบากมาก (ในเมืองเก่าโดยเฉพาะยุโรป หากต้องการขยายทางเท้า ก็จะเปลี่ยนมาใช้วิธีเดินรถทางเดียว ผสมผสานกับการจอดรถข้างถนน)
.
3. ในเมืองเก่าเชียงใหม่ มีถนนเส้นทางหลักเกือบเกือบ 40% ที่เป็นการเดินรถทางเดียว ทั้งที่มีเป้าหมายเพื่อการจัดการสัญจรและการส่งเสริมเมืองเก่าที่เป็นมิตรกับการเดินเท้า
.
4. ในกรณีถนนนิมมานเหมินท์ เป็นถนนเส้นประธาน (principal arterial road) ที่แบกรับปริมาณรถยนต์จากถนนซุปเปอร์ไฮเวย์ซึ่งรองรับปริมาณการสัญจรระดับของการเชื่อมภูมิภาค ประกอบกับปริมาณการสัญจรภายในย่านก็มีมาก ดังนั้น เป็นการยากที่จะปรับให้ถนนนิมมานฯ มีการเดินรถทางเดียว ซึ่งแตกต่างจากถนนราชดำเนินที่เป็นถนนท้องถิ่น (local road) ในพื้นที่เมืองเก่า
.
ติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ทาง The Urbanis
10 data insight เชียงใหม่ เมืองขับได้ขี่ดี vs เมืองเดินได้เดินดี https://theurbanis.com/insight/03/05/2021/4581
เจียงใหม่เมืองเตียวได้ : ถอดรหัส 3 ลักษณะเมืองเดินได้ https://theurbanis.com/insight/01/09/2020/2604
4. ทำไมถึงแบ่งช่องทางจักรยานทางซ้าย ทำไมถึงไม่ให้จักรยานวิ่งร่วมกับทางสัญจรรถยนต์?
.
พ.ร.บ.จราจรทางบก ตลอดจนมาตรฐานความปลอดภัยจราจรสากล และ คู่มือมาตรฐานการออกแบบการก่อสร้างทางจักรยานสำหรับประเทศไทย ประกอบกับการปรับเปลี่ยนเพื่อสอดคล้องกับบริบทพื้นที่ กำหนดให้ช่องทางจักรยานอยูด้านใน ชิดขอบทางเท้า แยกส่วนออกไปจากช่องทางรถยนต์ ทั้งนี้ เพื่อมิให้รถยนต์และจักรยานยนต์มาจอดคร่อมเลนจักรยาน อีกทั้งยังเตรียมการจัดตั้งแผงกั้น (barrier) โดยเฉพาะเพื่อความปลอดภัยในการปั่นจักรยาน
.
ปัจจุบันภายเขตคูเมืองเชียงใหม่ กำหนดความเร็วจำกัดสูงสุดตามกฎหมาย (speed limit) ที่ 40 กิโลเมตร/ชั่วโมง ซึ่งยังเป็นความเร็วที่สูงกว่ามาตรฐานของถนนแยกช่องทางจักรยานจากช่องทางสัญจรหลัก ที่กำหนดความเร็วสูงสุดที่ 30 กิโลเมตร/ชั่วโมง หากมีปริมาณรถยนต์มากกว่า 5,000 คัน/วัน (ปัจจุบัน ถนนราชดำเนินมีปริมาณรถยนต์สัญจร 6,000 คัน/วัน) ก่อให้เกิดการผลักดันมาตรการจำกัดความเร็วเพิ่มเติม เพื่อส่งเสริมความเป็นมิตรกับเมืองประวัติศาสตร์ และย่านเดินเท้าอีกด้วย
.
อย่างไรก็ตาม รูปแบบทิศทางการจราจร รวมถึงตำแหน่งทางจักรยานนี้ หากผ่านกิจกรรมลองดู และรวบรวมข้อมูลแล้วสามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบได้ทั้งหมด ก่อนที่จะมีการปรับแบบก่อนการก่อสร้างจริง
5. ทำไมต้องทดลองช่วงโรงเรียนปิดเทอม หรือรอให้โควิด-19 คลี่คลายถึงค่อยทดลองดำเนินการ?
.
การดำเนินการตามแผนเดิม จะทดลองจัดกิจกรรม “ลองดู” ในช่วงสงกรานต์ 2564 ที่มีจำนวนผู้คนที่ใช้การเดินเท้าในพื้นที่เมืองเก่าจำนวนมาก ทั้งเพื่อการท่องเที่ยวและส่งเสริมเศรษฐกิจของย่านภายในคูเมือง แต่ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ และระหว่างรอประกาศจากเจ้าพนักงานจราจรจังหวัดเชียงใหม่ ที่เห็นชอบให้ดำเนินการทดลองปรับเปลี่ยนรูปแบบเส้นทางการจราจร จึงทำให้กิจกรรมเลื่อนออกมาเป็นวันที่ 6-31 พ.ค. 64
.
อย่างไรก็ตาม คณะทำงานเล็งเห็นว่าการดำเนินกิจกรรม “ลองดู” ในช่วงปิดภาคเรียน และภาวะการรักษาระยะห่างเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ก็จะไม่ส่งผลกระทบที่รุนแรงทั้งต่อผู้อยู่อาศัย ผู้ประกอบการในพื้นที่ และผู้ใช้รถใช้ถนน ขณะที่ทุกฝ่ายก็ยังสามารถเข้ามาทดลองใช้งานพื้นที่ และร่วมแสดงความคิดเห็นต่อกิจกรรมได้
6. ทำไมไม่ปรับปรุงทางเท้าให้ดีและนำสายไฟลงดิน?
.
การปรับปรุงคุณภาพและความกว้างของทางเท้า รวมถึงการนำสายไฟฟ้าลงดินเป็นแผนงานหลักของโครงการพัฒนาย่านเดินได้เดินดี เพื่อยกระดับสุขภาวะคนเมือง นำร่องในพื้นที่เขตเทศบาลนครเชียงใหม่ ที่มีเป้าหมายสำคัญเพื่อปรับปรุงคุณภาพทางเท้าและภูมิทัศน์ของถนนราชดำเนิน เทศบาลนครเชียงใหม่ ให้เดินสะดวก เดินปลอดภัย และน่าเดิน
.
รายละเอียดการปรับปรับปรุงทางเท้าในแผนงานของโครงการ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการออกแบบย่านเดินเท้าถนนราชดำเนินในครั้งนี้คือ การันตี ทางเท้าตลอดแนวถนนที่มีความกว้างมากกว่า 1.5 เมตร และปรับเปลี่ยนวัสดุพื้นผิวทางเท้าที่เข้ากับบริบทของย่าน
.
อนึ่ง สำหรับงบประมาณของการนำสายไฟฟ้าลงดินนี้เป็นของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และจำเป็นต้องอาศัยการบูรณาการการทำงานร่วมกับกันระหว่าง เทศบาลนครเชียงใหม่ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และประชาชนในพื้นที่ ดังนั้น หากโครงการพัฒนาย่านเดินได้เดินดีเมืองเชียงใหม่ ยังไม่ได้ข้อสรุปในรายละเอียดแนวทางการดำเนินงาน การไฟฟ้าฯ ก็จะยังไม่สามารถจัดสรรงบประมาณเพื่อดำเนินการได้
7. ทำไมตีเส้นไม่เรียบร้อยและดูไม่สวยงามเลย?
.
การตีเส้นจราจรในกิจกรรม “ลองดู” โดยความเห็นชอบของคณะอนุกรรมการจัดระบบการจราจรทางบกจังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 17 มี.ค. 64 และไปเป็นตามประกาศเจ้าพนักงานจราจรจังหวัดเชียงใหม่ ที่เห็นชอบให้คณะทำงานดำเนินการโดยกำหนด “ห้าม” ใช้สีถาวร ดังนั้น สีที่ใช้ตีเส้นจึงเป็นสีชั่วคราวคุณภาพไม่สูงนัก ซึ่งจะจางลงภายในเวลาประมาณ 1 เดือน ประกอบกับข้อจำกัดด้านอุปกรณ์แบ่งเส้นจราจรที่ได้รับการสนับสนุนจากเทศบาลนครเชียงใหม่
.
สำหรับประเด็นเส้นแบ่งจราจรเดิมซึ่งยังปรากฏให้เห็นบนถนนราชดำเนิน จนอาจสร้างความเข้าใจผิดและสับสนได้นั้น เป็นไปตามกฏหมายที่ระบุว่าไม่สามารถลบได้ คณะทำงานนำโดยเทศบาลนครเชียงใหม่จึงแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าด้วยการติดตั้งป้ายบอกทาง และขอความร่วมมือเจ้าพนักงานจราจรคอยอำนวยความสะดวก
.
การตีเส้นชั่วคราวเป็นไปตามจุดมุ่งหมายสำคัญของกิจกรรม คือการทดลองปรับเปลี่ยนเส้นทางการจราจร และการ “แชร์” พื้นผิวทางสัญจรสำหรับ คนเดินเท้า ทางจักรยาน จักรยายนยนต์ และรถยนต์
8. ก่อนดำเนินการได้หารือกับชุมชนในพื้นที่โดยรอบบ้างหรือไม่?
.
กระบวนการร่วมหารือในหลายระดับและหลายรูปแบบคือหัวใจของโครงการพัฒนาย่านเดินได้เดินดี เพื่อยกระดับสุขภาวะคนเมือง นำร่องในพื้นที่เขตเทศบาลนครเชียงใหม่ ที่คณะทำงานให้ความสำคัญและดำเนินการอย่างต่อเนื่องตั้งแต่กลางปี 2562 ถึงต้นปี 2564 โดยได้ดำเนินไม่ต่ำกว่า 10 ครั้ง ทั้งการหารือกับผู้บริหารและเจ้าหน้าที่เทศบาลนครเชียงใหม่ การอบรมหลักสูตร “นักสำรวจเมือง” เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของภาคพลเมือง การสัมมนาเชิงปฏิบัติการการออกแบบอย่างมีส่วนร่วม เวทีรับฟังความคิดเห็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกลุ่มใหญ่และกลุ่มย่อย การสำรวจพื้นที่และสอบถามความคิดเห็นจากผู้ใช้งานจริง ฯลฯ โดยมีลำดับกิจกรรมการมีส่วนร่วมบางส่วน ดังนี้
.
7 ต.ค. 62
“เตียว-หย้อง-เมือง : เชียงใหม่ เมืองเดินได้เมืองเดินดี”
https://web.facebook.com/uddcbangkok/posts/1672384166227864
1 พ.ย. 62
โปสเตอร์ประชาสัมพันธ์ : นักสำรวจเมือง รุ่นที่ 2 ตอน “เตียว ส่อง เวียง เจียงใหม่”
https://web.facebook.com/uddcbangkok/posts/1699294156870198
6 พ.ย. 62
UddC ร่วมกิจกรรมภาคีพัฒนาเมืองเชียงใหม่ในเทศกาลยี่เป็ง
https://web.facebook.com/uddcbangkok/posts/1704792426320371
22 ก.พ. 63
โปสเตอร์ประชาสัมพันธ์ : เดินหน้าโครงการ “เตียว หย้อง เมือง เชียงใหม่” เปลี่ยนเมืองเชียงใหม่ สู่ เมืองเดินได้-เมืองเดินดี
https://web.facebook.com/uddcbangkok/posts/1821067854692827
27 ก.พ. 63
เทศบาลนครเชียงใหม่ จับมือ ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC-CEUS) และภาคีร่วมพัฒนา เดินหน้าโครงการ “เตียว หย้อง เมือง เชียงใหม่” เปลี่ยนเมืองเชียงใหม่ สู่ เมืองเดินได้-เมืองเดินดี
https://web.facebook.com/uddcbangkok/posts/1825914540874825
23 ก.ค. 63
UddC-CEUS ร่วมประชุมภาคีพัฒนาย่านเดินได้เดินดี เมืองเชียงใหม่
https://web.facebook.com/uddcbangkok/posts/1975403185925959
7 ส.ค. 63
ผู้อำนวยการ UddC-CEUS หารือภาคีพัฒนาเดินหน้า เชียงใหม่ เมืองเดินได้-เมืองเดินดี
https://web.facebook.com/uddcbangkok/posts/1996240953842182
10 ส.ค. 63
ผู้อำนวยการ UddC-CEUS หารือภาคีพัฒนาเดินหน้า เชียงใหม่ เมืองเดินได้-เมืองเดินดี
https://web.facebook.com/uddcbangkok/posts/1996240953842182
10 ส.ค. 63
ภาคเอกชนเชียงใหม่ ร่วมผลักดัน เชียงใหม่ เมืองเดินได้-เมืองเดินดี
https://web.facebook.com/uddcbangkok/posts/1996247010508243
5 ต.ค. 63
UddC-CEUS หารือ RAFA เตรียมพร้อมจัดการนำเสนอสาธารณะ GoodWalk Chiangmai 12 ต.ค. นี้
https://web.facebook.com/uddcbangkok/posts/2070018193131124
11 ต.ค. 63
โปสเตอร์ประชาสัมพันธ์ : รับฟังและแสดงความคิดเห็นต่อข้อเสนอเชียงใหม่: เมืองเดินได้เดินดีแบบร่างครั้งที่ 1 นำร่องบนถนนราชดำเนิน ถนนท่าแพ และพื้นที่ริมแม่น้ำปิง
https://web.facebook.com/uddcbangkok/posts/2079292105537066
17 พ.ย. 63
โปสเตอร์ประชาสัมพันธ์ : เวิร์คชอปแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางการปรับปรุงสภาพแวดล้อมทางเดินเท้า บริเวณพื้นที่นำร่องถนนราชดำเนินและถนนท่าแพ
https://web.facebook.com/uddcbangkok/posts/2128353763964233
19 พ.ย. 63
คณะทำงาน “เชียงใหม่เดินได้เดินดี” ลงพื้นที่รับฟังความเห็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียย่าน ถ.ท่าแพ และ ถ.ราชดำเนิน ต่อยอดร่างยุทธศาสตร์การพัฒนาให้ตอบรับความต้องการคนทุกกลุ่ม
https://web.facebook.com/uddcbangkok/posts/2130927387040204
29 ม.ค. 64
UddC-CEUS และภาคีออกแบบ “ย่านเดินได้เดินดีเชียงใหม่” พร้อมส่งมอบแบบขั้นพัฒนาโครงการ นำร่องถนนราชดำเนินและถนนท่าแพ แก่เทศบาลนครเชียงใหม่และชาวเมืองเชียงใหม่
https://web.facebook.com/uddcbangkok/posts/2206778209455121
22 ก.พ. 64
ผู้อำนวยการ UddC-CEUS นำเสนอแบบปรับปรุงทางเท้าเชียงใหม่ขั้นร่างสมบูรณ์ (draft final) นำร่อง ถ.ท่าแพ-ถ.ราชดำเนิน ต่อผู้บริหารเทศบาลนครเชียงใหม่ เตรียมพร้อมจัดการนำเสนอสาธารณะครั้งใหญ่ เร็วๆ นี้
https://web.facebook.com/uddcbangkok/posts/2230968290369446
2 ก.พ. 64
ผู้บริหารเทศบาลนครเชียงใหม่นำสำรวจพื้นที่ริมน้ำปิง
https://web.facebook.com/uddcbangkok/posts/2230978697035072
27 ก.พ. 64
โปสเตอร์ประชาสัมพันธ์ : ขอเชิญชวนชาวเชียงใหม่ร่วมแสดงความคิดเห็นต่อ “ร่างแนวทางการออกแบบปรับปรุงทางเท้าเมืองเชียงใหม่ ถ.ราชดำเนิน-ถ.ท่าแพ ขั้นสมบูรณ์”
https://web.facebook.com/uddcbangkok/posts/2236185546514387
3 มี.ค. 64
เตรียมความพร้อม ชาวเชียงใหม่ร่วมแสดงความคิดเห็นต่อ “ร่างแนวทางการออกแบบปรับปรุงทางเท้าเมืองเชียงใหม่ ถ.ราชดำเนิน-ถ.ท่าแพ ขั้นสมบูรณ์”
https://web.facebook.com/uddcbangkok/posts/2239835609482714
3 มี.ค. 64
ชาวเชียงใหม่ร่วมสะท้อนความเห็นร่างพัฒนาขั้นสมบูรณ์ “เมืองเชียงใหม่: เดินได้เดินดี” รอบที่ 1
https://web.facebook.com/uddcbangkok/posts/2240005469465728
3 มี.ค. 64
รับฟังความเห็นชาว ถ.ราชดำเนิน รอบบ่าย เพื่อ “เชียงใหม่: เมืองเดินได้ เมืองเดินดี”
https://web.facebook.com/uddcbangkok/posts/2240135016119440
4 มี.ค. 64
เทศบาลจับมือ UddC-CEUS เดินหน้าฟังความเห็นสู่การพัฒนา “เชียงใหม่: เมืองเดินได้เมืองเดินดี” วันที่ 2
https://web.facebook.com/uddcbangkok/posts/2240922936040648
4 มี.ค. 64
รับฟังความเห็น “เชียงใหม่: เมืองเดินได้เมืองเดินดี” ที่เวิ้งเหล็กแดง ถ.ท่าแพ
https://web.facebook.com/uddcbangkok/posts/2241196312679977
5 มี.ค. 64
สรุปข้อคิดเห็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ถ.ราชดำเนิน-ถ.ท่าแพ สู่ร่างการออกแบบ “เชียงใหม่: เมืองเดินได้ เมืองเดินดี” ขั้นสมบูรณ์ และประชาพิจารณ์ เร็วๆ นี้
https://web.facebook.com/uddcbangkok/posts/2242273659238909
6 เม.ย. 64
The Momentum ติดตามความคืบหน้าโครงการ เมืองเชียงใหม่เดินได้เดินดี
https://web.facebook.com/uddcbangkok/posts/2274425232690418
29 เม.ย. 64
เทศบาลนครเชียงใหม่ ตีเส้นจราจร เตรียมเดินรถทางเดียวบน ถ.ราชดำเนิน สู่จุดเริ่มต้น “เมืองเชียงใหม่ เดินได้ เดินดี”
https://web.facebook.com/uddcbangkok/posts/2294230070709934
3 พ.ค. 64
เมืองเชียงใหม่ เตรียมความพร้อมกิจกรรม “ลองดู” บนถนนราชดำเนิน
เดินหน้าสู่เมืองต้นแบบเดินได้เดินดี คิกออฟวันแรก 6 พ.ค. 64
https://web.facebook.com/page/276255902507371/
.
ทั้งนี้ ภายหลังกิจกรรม “ลองดู” คณะทำงานยังมีกำหนดจัดกิจกรรมสร้างการมีส่วนร่วมเพิ่มเติม ได้แก่ การรับฟังความคิดเห็นสืบเนื่องจากกิจกรรม “ลองดู”, การปรับแบบร่างแนวทางการปรับปรุงทางเท้านำร่อง ถ.ราชดำเนิน และ ถ.ท่าแพ, จัดกระบวนการประชาพิจารณ์ระดับเมือง ก่อนดำเนินโครงการจริงในพื้นที่นำร่อง
9. หลัง “ลองดู” แล้วจะทำอย่างไรต่อ?
.
ทั้งนี้ ภายหลังกิจกรรม “ลองดู” คณะทำงานยังมีกำหนดจัดกิจกรรมสร้างการมีส่วนร่วมเพิ่มเติม ได้แก่ การรับฟังความคิดเห็นสืบเนื่องจากกิจกรรม “ลองดู” ทั้งในรูปแบบออนไลน์และออนกราวน์ด้วยการสอบถามผู้ใช้งานจริง ทั้งนี้เพื่อนำไปสู่การปรับแบบร่างแนวทางการปรับปรุงทางเท้านำร่อง ถ.ราชดำเนิน และ ถ.ท่าแพ (ขั้นสุดท้าย) พร้อมจัดกระบวนการประชาพิจารณ์ระดับเมือง ประมาณเดือน มิ.ย. 64 หรือเมื่อสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลง ก่อนดำเนินโครงการจริงในพื้นที่นำร่อง ถ.ราชดำเนิน และ ถ.ท่าแพ ต่อไป
.
ขณะนี้ก็มีข้อแนะนำจากหลายๆท่าน อาทิ ข้อเสนอเรื่องรูปแบบตำแหน่งของทางจักรยาน และ ข้อเสนอให้มีการเว้นช่องจอดรถและเครื่องหมายห้ามจอดบางช่วงเพื่อให้สามารถจอดเข้าออกช่องสำหรับจอดรถได้อย่างสะดวก เป็นต้น
10. หากต้องการมีส่วนร่วมหรือแสดงความคิดเห็นทำได้อย่างไร?
.
คณะทำงานขอเชิญชวนทุกท่านร่วมกิจกรรม “ลองดู” ห้องทดลองเมืองบนถนนราชดำเนิน และแสดงความเห็นผ่านแบบสอบถามออนไลน์ ผ่าน https://docs.google.com/…/1FAIpQLSegUozBisu…/viewform… หรือสแกน QR CODE เพื่อคณะทำงานรวบรวมและนำไปพัฒนาโครงการพัฒนาย่านเดินได้เดินดี เพื่อยกระดับสุขภาวะคนเมือง นำร่องในพื้นที่เขตเทศบาลนครเชียงใหม่ ในระยะถัดไป
11. ถนนราชดำเนินเดินได้เดินดีแล้วมีประโยชน์อะไร?
.
ประโยชน์ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นแก่ประชาชนและสาธารณะหากมีการปรับปรุงถนนราชดำเนินให้เดินได้เดินดีมีดังต่อไปนี้
.
1) ภูมิทัศน์ของถนนราชดำเนินอันเป็นถนนประวัติศาสตร์สายสำคัญของเมืองเชียงใหม่จะได้รับการปรับปรุงให้สวยงาม นำมาซึ่งความภาคภูมิใจ
.
2) ทางเท้าจะเดินสะดวก เดินปลอดภัย น่าเดินดึงดูดให้คนกลุ่มต่างๆ ไม่ว่าจะเด็ก ผู้ใหญ่ ผู้สูงอายุ หรือผู้ที่มีข้อจำกัดเรื่องการเคลื่อนที่ต้องนั่งรถเข็น สามารถออกมาเดินเล่นออกกำลังกายอย่างเท่าเทียม สร้างสุขภาวะที่ดีให้เกิดขึ้น
.
3) ทางเท้าที่ได้รับการปรับปรุงและเชื่อมต่อไปยังซอยตรอกต่างๆ เป็นโอกาสในการชักนำเอาผู้คนที่สัญจรโดยเท้าไปยังจุดต่างๆ เป็นโอกาสในการกระจายโอกาสทางเศรษฐกิจให้ทั่วถึงมากขึ้น
.
4) การเดินและการใช้จักรยานจะเป็นโอกาสในการลดการใช้รถยนต์ในพื้นที่ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของปัญหาฝุ่น ควัน เสียง มลภาวะต่างๆ รวมทั้งอุบัติเหตุ
.
5) การเดินคือโอกาสที่ทำให้คนทุกกลุ่มมาทำความรู้จักกับย่าน กับผู้คน กับเมือง ซึ่งเป็นพื้นฐานในการสร้างความรักและผูกพันให้เกิดขึ้นระหว่างคนกับย่านมากยิ่งขึ้น
.
ทำไมเมืองต้องเดินได้? https://www.youtube.com/watch?v=uGTnwUN_Jyw&t=74s
(ที่มา TEDxTalk)
12. ทำไมเมืองเชียงใหม่ต้องเดินได้-เดินดี?
.
ทุกวันนี้ เมืองรองเนื้อหอมเหลือเกิน ทั้งจากการพัฒนาในระดับภูมิภาค การสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่จะอำนวยความสะดวกความเชื่อมโยงระหว่างภูมิภาค ระหว่างเมือง การพัฒนาสาธารณูปโภค สาธารณูปการ ตลอดจน สร้างให้เกิดแหล่งงาน ที่เรียน มหาวิทยาลัย ที่พอจะทัดเทียมกับในเมืองรอง ให้คนที่อยู่ในเมืองสามารถอยู่ได้ ศึกษาหาความรู้ได้ ทำงานได้ในเมืองของตัวเอง ตัวอย่างเมืองรองทที่มีแนวโน้มการพัฒนาเมืองและพัฒนาย่านที่เห็นได้ชัด เช่น เชียงใหม่ ภูเก็ต โคราช อุดรธานี ขอนแก่น สงขลา ระยอง เป็นต้น
.
เมืองเชียงใหม่ เป็นเมืองรองขนาดใหญ่ของประเทศไทย ซึ่งมีพัฒนาการของความเป็นเมืองมาอย่างยาวนาน ประกอบกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนาความเข็มเเข็งทางเศรษฐกิจ ทำให้เมืองมีขนาดโตขึ้นและแผ่ขยายขึ้น แน่นอนว่าย่อมมีผลกระทบจากสายธารของการพัฒนาและการเติบโตของความเป็นเมือง
.
คำถามง่ายๆ แต่เป็นโจทย์พื้นฐานที่ยากและสำคัญสุดในการพัฒนาเมือง คือ จะทำอย่างไรที่ทำให้เมืองนั้นๆ เป็นเมืองที่ ‘เดินได้’ และ ‘เดินดี’ กล่าวโดยขยายความ เมืองที่เดินได้และเดินดีนั้น คือเมืองที่ทุกอย่างอยู่ในระยะที่เดินถึง มีพื้นที่สีเขียวอย่างเพียงพอ มีย่านชุมชนเศรษฐกิจที่กระจายตัวไปหลากทิศ และมีศักยภาพที่จะเติบโตได้ ทั้งนี้เมืองรองเหล่านี้ล้วนเป็นเมืองที่มีศักยภาพในการพัฒนาให้เป็นเมืองเดินได้เดินดี
.
ถึงแม้ว่าเชียงใหม่จะมีศักยภาพที่จะเป็น “เมืองเดินได้” กล่าวคือมีลักษณะทางกายภาพ และเศรษฐสังคมของเมืองที่เอื้อให้เกิดการใช้ชีวิตที่เป็นมิตรกับการเดินเท้า แต่ความท้าทายของเมืองเชียงใหม่คือการสร้างพื้นที่เดินได้เหล่านั้นให้มีคุณภาพการเดินเท้าเท้าที่ดี นั่นคือการสร้างสภาพแวดล้อมทางกายภาพที่เอื้อและสนับสนุนต่อการเดินเท้า ทั้งลักษณะทางกายภาพและระบบโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของเมือง เพื่อจะนำไปสู่การเป็นเชียงใหม่เมืองเดินได้ – เมืองเดินดีในอนาคต
ผลการศึกษาของ ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC-CEUS) ชี้ให้เห็นว่าพื้นที่เกือบ 45 % ของพื้นที่เทศบาลนครเชียงใหม่เป็นพื้นที่ที่สามารถใช้ชีวิตอยู่ได้ด้วยการเดินเท้า แต่อย่างไรก็ตามสภาพปัญหาในปัจจุบันที่ผู้คนและนักท่องเที่ยวต้องเผชิญอยู่คือ ด้านสภาพแวดล้อมทางกายภาพของถนนและทางเท้าที่ยังไม่ดีเพียงพอ รวมถึงสภาพปัญหาการจราจรติดขัดโดยเฉพาะในช่วงเวลาเร่งด่วนตลอดจนช่วงฤดูกาลของการท่องเที่ยว ทั้งนี้อาจจะด้วยข้อจำกัดบางประการของระบบขนส่งมวลชนเมืองเชียงใหม่ที่ยังต้องพัฒนาเพื่อให้เป็นโครงสร้างพื้นฐานอันจะช่วยส่งเสริม “วิถีการเดินเท้า” ให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้นในเมืองเชียงใหม่ต่อไป
.
สุดท้ายนี้ การจะเป็นเมืองเดินได้-เมืองเดินดีหรือไม่นั้น คงต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อนให้เมืองเชียงใหม่ไปสู่เป้าหมายสุดของการเป็นเมืองวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับการเดินเท้าได้ในที่สุด
ขอบคุณข้อมูลจาก
(20) UDDC – Urban Design and Development Center – Posts | Facebook