สร้างคราฟท์ใหม่ใหม่ ด้วยวิธีคิดอย่างนักออกแบบ

ในวันที่โลกหมุนเร็ว ความต้องการของตลาดผันแปร ผู้บริโภคมีตัวเลือกสารพัน นักออกแบบและผู้ผลิตงานคราฟท์เชียงใหม่เองต่างก็ต้องปรับตัวและเรียนรู้ข้อมูลใหม่ตลอดเวลาเชียงใหม่ฉันจะดูแลเธอ อยากแบ่งปัน 3 เทคนิคของการออกแบบผลิตภัณฑ์ให้กับคุณผู้อ่านที่รักของเรา และตัวอย่างผลิตภัณฑ์ที่ใช้วิธีคิดดังกล่าวเพื่อสร้างสรรค์ผลงานสดใหม่ออกมา Mash Up จับแพะชนแกะDeconstruction รื้อสร้างใหม่Metaphor อุปลักษณ์

จับแพะชนแกะ (Mash Up)

เทคนิคที่เรียกว่า Mash up นี้ เป็นวิธีคิดสนุกๆที่บริษัท IDEO ใช้ทำงานออกแบบสร้างสรรค์นวัตกรรม ซึ่งผลลัพท์ของการจับคู่สิ่งที่แตกต่างกันเข้าด้วยกัน ทำให้ไอเดียสดใหม่เกิดขึ้นมาอย่างไม่มีขีดจำกัด

สมมุติว่าคุณเป็นเจ้าของโรงงานเซรามิก

1.ตั้งคำถามชวนคิด ‘จะเป็นอย่างไรนะ ถ้า..’
– จะเป็นอย่างไรนะ ถ้าใช้เซรามิกสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ

2. เขียนสิ่งที่ไม่เกี่ยวข้องกัน อาจเป็นบุคคล วัตถุ กิจกรรม
– เช่น เด็กเล็ก โควิด เทียน แต่งบ้าน เครื่องประดับ งานอดิเรก ความปลอดภัย

3. จับคู่คำที่ลิสต์ไว้ ปล่อยให้จินตนาการทำงาน
เทียน + แต่งบ้าน = โคมไฟอุ่นเทียนเซรามิก
เทียน+งานอดิเรก = ถ้วยเทียนเซรามิกพร้อมเซ็ตทำเทียนหอม,
โควิด+เครื่องประดับ = สายคล้องมาส์กจากลูกปัดเซรามิก ทนต่อแอลกอฮอล์
เด็กเล็ก + ความปลอดภัย = ฉนวนพอร์ซเลนอุดปลั๊กไฟและตกแต่งบ้านได้
เด็กเล็ก + แต่งบ้าน = ชุดปั๊มลายมือเท้าเด็กลงบนกระเบื้องแต่งบ้าน

จะเห็นได้ว่าการคิดถึงสิ่งที่ไกลออกไปจากกลุ่มอุตสาหกรรมที่เราทำงานอยู่ อาจทำให้เราพบโอกาสที่คิดไม่ถึง ทีนี้เราลองสมมุติถึงผลิตภัณฑ์อื่นๆบ้าง
ร้านอาหาร : วัฒนธรรมตะวันตก + วัตถุดิบพื้นถิ่น = พาสต้าซอสมะแขว่น, พิซซ่าเห็ดถอบ
ผ้า : ของที่ระลึก + สัตว์เลี้ยง = ผ้าทอผสมกับขนสัตว์เลี้ยงใช้แทนใจยามสัตว์เลี้ยงจากไป
งานจักสาน : สมุนไพร+กลิ่นหอม = หมอนจักสานจากตะไคร้หอมสำหรับใช้ในสปา

Source : https://www.ideou.com/pages/ideation-method-mash-up

รื้อสร้างใหม่ (Deconstruction)

Deconstruction เป็นแนวคิดจากนักปรัชญาชาวฝรั่งเศส Jacques Derrida ว่าด้วยการมองว่าภาษาไม่มีสถานะที่ตายตัว ผู้อ่านสามารถหาความหมายและบริบทมาตีความใหม่

เมื่อยกวิธีคิดนี้มาใช้กับงานออกแบบ จะเกิดการคลี่คลายโครงสร้างสิ่งนั้นๆออกมา ตั้งคำถาม บิดพลิกแพลง สลับสับเปลี่ยน ลบภาพจำเดิม ๆ ของสิ่งนั้นออกไปแล้วมองมันใหม่ เพื่อหาความเป็นไปได้รูปแบบต่างๆ

เฟอร์นิเจอร์

ตั้งคำถามกับส่วนต่างๆของเก้าอี้ ทำไมถึงมีสี่ขา ถ้าไม่มีขาเลย? ถ้ามีมากกว่าสี่ขา? ถ้าเก้าอี้ขาไม่ตรง? ความทึบของเก้าอี้จำเป็นหรือไม่ ถ้าโปร่งจะเป็นแบบไหน ถ้าเก้าอี้ไม่ทำจากไม้จะใช้วัสดุอะไรได้อีกบ้าง หรือแม้แต่รูปแบบการนั่งก็อาจทำให้เกิดเฟอร์นิเจอร์แบบใหม่ นั่งสมาธิจะยังใช้เก้าอี้หน้าตาแบบปัจจุบันอยู่ไหม เป็นต้น

อาหาร

เช่น คลี่โครงสร้างของอาหารออกมา และดูว่ามีอะไรที่เราพลิกแพลงใช้แทนกันได้บ้าง อาหารที่ถูก Deconstruction และเรารับประทานกันอยู่ในชีวิตประจำวันโดยไม่รู้ตัว เช่น การทดแทนเส้นมะละกอในส้มตำด้วยแครอท ข้าวซอยที่เปลี่ยนมาใส่หมูกรอบแทนเนื้อไก่ แซนวิซโลว์คาร์บที่ใช้มะเขือม่วงแทนขนมปัง ไอศกรีมที่เสิร์ฟในหม้อไฟ ด้วยหลักเดียวกันนี้ วันหนึ่งเราอาจได้ดื่มคราฟท์เบียร์เชียงใหม่ ที่ทดลองใช้ดอกไม้พื้นถิ่นแทนการใช้ฮอบส์ขึ้นมาก็เป็นได้

อุปลักษณ์ (Metaphor)

การอุปลักษณ์ไม่เพียงถูกใช้ในงานวรรณกรรมเท่านั้น แต่ Metaphor Design เสมือนการเปรียบสิ่งหนึ่งเป็นอีกสิ่งหนึ่ง ผ่านการตีความเชิงสัญลักษณ์มาเป็นรูปธรรม

งานออกแบบผ่านกระบวนการ Metaphor เป็นได้ทั้งการเปรียบเทียบออกมาชัดเจนหรือพอมีบางส่วนที่ผู้เห็นคิดเชื่อมโยงกันได้ เช่น กบเหลาที่ออกแบบเป็นรูปสัตว์ฟันแทะ ที่รดน้ำต้นไม้รูปเมฆฝน โรงละครโอเปราเฮาส์ที่ตีความมาจากรูปแบบการปอกส้ม เป็นอาทิ

ส่วน Metaphor อย่างแยบคาย เช่น เมื่อเราเพิ่มน้ำหนักลงในผลิตภัณฑ์บางกลุ่ม เช่น นาฬิกาตั้งโต๊ะ การรับรู้ของมนุษย์จะตีความเชื่อมโยงโดยอัติโนมัติว่าเป็นของมีคุณภาพ หรือการใช้วัสดุแวววาวกับการตกแต่งภายใน แม้ว่าจะราคาไม่สูง แต่ผู้เห็นจะรู้สึกถึงความหรูหราขึ้นมาได้