ร้านกาแฟ พื้นที่สำคัญในชีวิตคนเมือง

หลายคนกล่าวว่าเชียงใหม่เป็นเมืองกาแฟหรือเมืองแห่งร้านกาแฟ และการไป Café นั้นเป็นมากกว่าการดื่มกาแฟ สถานที่ที่คนเชียงใหม่คุ้นเคยกลมกลืนอยู่ในชีวิตประจำวันนี้ มีความเป็นมาและมีบทบาทอย่างไรในชีวิตของเราและในสังคมโดยรวมบ้าง บทความนี้จะพาไปสำรวจกัน

ประวัติศาสตร์ร้านกาแฟ

คำว่า “Café” มาจากภาษาฝรั่งเศส แปลความหมายได้สองแบบคือ กาแฟ (Coffee) และ ร้านกาแฟ (Coffee House) ย้อนประวัติศาสตร์ไปกว่าห้าร้อยปี Café/Coffee House แห่งแรกที่มีบันทึกไว้ เกิดขึ้นที่กรุงคอนสแตนติโนเปิลแห่งอาณาจักรออตโตมัน (เมืองอิสตันบูล ประเทศตุรกีในปัจจุบัน) ปลายศตวรรษที่ 15 ในยุคนั้นกาแฟได้รับความนิยมในครัวเรือนอยู่แล้ว ดังนั้นการใช้บริการร้านกาแฟจึงเป็นมากกว่าการบริโภคกาแฟ โดย Café ยุคแรกเริ่มนั้นใช้เพื่อพบปะสังสรรค์ ฟังดนตรี ชมการแสดง เล่นเกมกระดานและการพนัน แน่นอนว่าเมื่อผู้คนจำนวนมากรวมตัวกัน จึงเกิดการสนทนาแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร บทบาทของ Café ในแง่ของสถานที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ได้เติบโตและมีอิทธิพลมาก จนทำให้คนสมัยนั้นขนานนาม Café ว่าเป็น “สมาคมของผู้รอบรู้” (Schools of the Wise)

วัฒนธรรมการดื่มกาแฟในยุโรปเกิดขึ้นช่วงกลางศตวรรษที่ 17 จากเหล่าพ่อค้าที่เดินทางติดต่อค้าขายกับโลกอาหรับ เดิมทีชาวยุโรปมักใช้เวลายามว่างนัดพบกันตามโรงเหล้า Café จึงเป็นทางเลือกใหม่ในการสังสรรค์ที่ปราศจากเครื่องดื่มมึนเมาเป็นสื่อกลาง รวมทั้งได้เปลี่ยนบรรยากาศจากความมืดสลัวอึมครึมของโรงเหล้า ด้วยสภาพแวดล้อมใหม่ๆนี้เอง จึงดึงดูดผู้คนหลากประเภท เช่น นักวิชาการ ปัญญาชน พ่อค้า ศิลปิน และทำให้ Café เริ่มเพิ่มจำนวนเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลาย

ที่อังกฤษในศตวรรษที่ 18 Café กลายเป็นแหล่งชุมนุมถกเถียงของนักวิชาการ จนถูกตั้งชื่อเล่นว่า #มหาวิทยาลัยหนึ่งเพนนี (Penny Universities) สื่อความหมายว่าผู้คนมาหาความรู้ได้ด้วยการซื้อกาแฟหนึ่งแก้วในราคาหนึ่งเพนนี ขณะที่บางแห่งเป็นพื้นที่เจรจาธุรกิจของเหล่าพ่อค้าและนักเดินเรือ ซึ่งเหลือเชื่อว่าการพบปะกันใน Café จะจุดประกายสู่กิจการธนาคารและประกันภัยขึ้นมาได้ เช่น บริษัทประกัน Lloyd’s of London Insurance Company มีต้นกำเนิดจาก Edward Lloyd’s Coffee House และยังดำเนินกิจการมายาวนานจนถึงปัจจุบัน

ในช่วงเวลาของการปฏิวัติฝรั่งเศส Café ทั่วเมือง Paris ถูกใช้เป็น #พื้นที่สำคัญสำหรับการวางแผนและเผยแพร่แนวคิดอุดมการณ์ทางการเมือง ซึ่งมีอิทธิพลอย่างมากต่อความสำเร็จของขบวนการปฏิวัติ

ทั้งหมดทำให้เห็นว่า Café มีบทบาทในชีวิตของคนเรามาตลอดประวัติศาสตร์ ไม่เพียงกับชีวิตส่วนตัวในแง่การบริโภคสินค้าหรือการพบปะสังสรรค์ แต่ Café ยังเป็นพื้นที่ที่ผู้คนใช้เพื่อการปฏิสัมพันธ์กับสังคมวงกว้างในแง่มุมที่หลากหลายและอาจต่อยอดเป็นธุรกิจอย่างเป็นรูปธรรมขึ้นมาได้

บทบาทร้านกาแฟที่เปลี่ยนไป

วัฒนธรรมเกี่ยวกับ Café ถูกเผยแพร่ไปทั่วโลกด้วยอิทธิพลทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรมของยุโรป โครงสร้างสังคมหลังเข้าสู่ยุคสมัยใหม่เปลี่ยนจากชุมชนขนาดเล็กสู่ความเป็นเมือง จำนวนประชากรเพิ่มมากขึ้น เกิดการผสมผสานทางวัฒนธรรม อุตสาหกรรมกาแฟเองก็เติบโตขึ้นทั้งในแง่ปริมาณ คุณภาพ และความหลากหลายของสินค้า ทำให้ Café ส่วนใหญ่เริ่มเปลี่ยนแปลงบทบาทไป

จากเดิมที่เคยเป็นสถานที่ที่ใกล้ชิดกับชุมชน (Community-based) กลายเป็นสถานที่ที่เน้นนำเสนอตัวสินค้า ซึ่งก็คือกาแฟ และอาจหมายรวมถึงเครื่องดื่มและอาหารอื่นๆที่ให้บริการควบคู่กัน (Commodity-based) Café ต่างนำเสนอตัวตนผ่านสินค้าที่มีความเฉพาะตัว โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ จุดขายของ Café มิได้จำกัดเพียงแค่เครื่องดื่ม แต่ยังรวมถึงบรรยากาศ การออกแบบพื้นที่และรูปแบบการใช้งาน เพื่อตอบสนองความต้องการที่หลากหลาย

คุณสมบัติพิเศษของ Café คือเป็นจุดบรรจบกันของกิจกรรมที่ขยายขอบเขตออกมาจากการอยู่บ้านและการอยู่ในที่ทำงาน ในยุคปัจจุบันเทคโนโลยีดิจิตอลช่วยย่อส่วนงานหลายอย่างของเราให้เข้ามาอยู่ในคอมพิวเตอร์พกพาเพียงเครื่องเดียว ทำให้หลายคนเลือกใช้ Café เป็นสถานที่สำหรับทำงาน

ข้อดีของสภาพแวดล้อมในร้านกาแฟ

งานวิจัยค้นพบว่าการเปลี่ยนบรรยากาศออกจากที่เดิมๆนั้นช่วยให้เราผ่อนคลายและทำงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และสภาพแวดล้อมที่มีเสียงรบกวนเล็กๆน้อยๆ อย่างเช่นเสียงเครื่องทำกาแฟหรือเสียงสนทนาจากระยะไกลๆนั้นไม่ได้ทำลายสมาธิการทำงาน แต่กระตุ้นสมองให้คิดสร้างสรรค์เพิ่มขึ้นได้ สำหรับช่วงเวลาว่างแทนที่จะอยู่บ้าน หลายคนเลือกไป Café ซึ่งให้บรรยากาศผ่อนคลายอีกแบบหนึ่ง

Alan Blum นักวิชาการด้านสังคม ให้ข้อสังเกตว่า การนั่งอยู่ใน Café นั้นมอบความรู้สึกของความเป็นส่วนตัวแม้จะอยู่ในที่สาธารณะ ช่วยให้เราไม่รู้สึกโดดเดี่ยว กล่าวคือเราสามารถมีพื้นที่และช่วงเวลาส่วนตัวไปพร้อมๆกับการเป็นส่วนหนึ่งของสังคมและผู้คนรอบตัว

ในแง่ของการเป็นธุรกิจนั้น เราอาจแบ่งประเภทของ Café ได้คร่าวๆ เป็นสี่ประเภท

  • ร้านขนาดเล็กที่กระจายอย่างกลมกลืนตามมุมต่างๆของเมือง เน้นบริการที่ง่าย รวดเร็ว ราคาประหยัด เหมาะกับการแวะซื้อหรือนั่งพักเป็นเวลาสั้นๆ
  • Café อิสระหลากหลายรูปแบบ ที่ซึ่งเมนูเครื่องดื่มและอาหาร รวมถึงพื้นที่และการตกแต่งร้านถูกสร้างสรรค์มาให้มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว Café ประเภทนี้อาจมีขนาดใหญ่และมีพื้นที่ใช้สอยหลากหลายรูปแบบ หรืออาจเป็น Café ขนาดเล็กที่ให้ความรู้สึกอบอุ่นเป็นกันเอง
  • Café ที่ดำเนินการโดยแบรนด์หรือบริษัทใหญ่ๆ บริการมีมาตรฐาน สะดวกสบาย และมีหลายสาขา
  • ร้านที่ให้บริการกาแฟแบบพิเศษ หรือ Specialty Coffee ซึ่งเป็นกาแฟคุณภาพสูงควบคุมมาตรฐานเข้มงวดตลอดการผลิตและถูกนำเสนอโดยผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งเหมาะกับนักชิมและผู้ที่สนใจกาแฟอย่างจริงจัง

ในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา ความหลากหลายทางวัฒนธรรมได้ผสมผสานอยู่ในธุรกิจ Café ซึ่งเห็นได้จาก Café ที่ให้บริการกลุ่มคนที่มีความสนใจเฉพาะ เช่น Café สัตว์เลี้ยง, Café บอร์ดเกม, ร้าน Specialty Coffee ที่ดึงดูดผู้สนใจศึกษาเกี่ยวกับกาแฟและผู้เชี่ยวชาญ, Café ที่เปิดพื้นที่จัดกิจกรรม เช่น งานเสวนาหรือนิทรรศการศิลปะ แง่มุมเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าแม้สังคมจะเปลี่ยนแปลงมีความซับซ้อนขึ้น แต่คุณสมบัติของ Café ในการเป็น ‘พื้นที่กลาง’ สำหรับการปฏิสัมพันธ์ของผู้คนนั้นยังคงอยู่ดังเดิมเช่นเดียวกับที่เป็นมาห้าร้อยกว่าปี เพียงแต่รูปแบบของมันได้วิวัฒนาการตามยุคสมัยและบริบททางสังคมที่มีความเฉพาะตัวในแต่ละพื้นที่

ย้อนกลับมาที่เมืองเชียงใหม่ อยากเห็นวัฒนธรรม Café ของเชียงใหม่พัฒนาไปทิศทางไหน หรือความเป็นเมืองกาแฟของเชียงใหม่นั้นจะสร้างโอกาสหรือศักยภาพให้กับเมืองโดยรวมได้แบบไหน ขอเชิญชวนมาร่วมพูดคุยกันได้ที่นี่

แหล่งอ้างอิง:
https://www.thespruceeats.com/evolution-of-the-coffee-house-765825
https://www.ncausa.org/About-Coffee/History-of-Coffee
https://www.worldcoffeeportal.com/Latest/InsightAnalysis/2019/September/Extract-A-short-history-of-the-coffee-shop
https://coffeeordie.com/coffee-house-cafe-culture/
https://coffitivity.com/research
บทความ ‘Busy Meeting Grounds’ The café, the scene and the business โดย Eric Laurier (2004)
บทความ Experiencing contemporary cafés and changes in the characteristic of third places โดย Yulia Nurliani Lukito และ Anneli Puspita Xenia (2018)
หนังสือ A History of the World in 6 Glasses โดย Tom Standage (2006)