วัยรุ่นเชียงใหม่ กับ พื้นที่การแสดงออก

#วัยรุ่นเชียงใหม่ วัยแห่งการเติบโตการเรียนรู้ และเต็มเปี่ยมไปด้วยพลัง วัยรุ่นในเชียงใหม่ไม่ได้มีแค่คนเชียงใหม่ แต่คือวัยรุ่นจากพื้นที่จังหวัดในเขตภาคเหนือส่วนใหญ่ ที่มีเข้ามาใช้ชีวิตในช่วงการเติบโตสู่การสร้างตัวตนและเป้าหมายในอนาคตของตัวเอง เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เมืองเชียงใหม่เป็นเมืองสำคัญของภูมิภาค

#พื้นที่แห่งการแสดงออก ของกลุ่มวัยรุ่น เป็นพื้นที่แห่งความเข้าใจ เปิดโอกาสและรับฟังความต้องการ การมีส่วนร่วมในการออกแบบพื้นที่ที่เขาอยากอยู่ ไม่ใช่แค่ชอบที่จะเที่ยวเล่นในเมือง แต่เรียนจบแล้วอยู่ที่นี่ต่ออย่างยั่งยืนไม่ได้ หากเราเข้าใจการเปลี่ยนแปลงของผู้คน ทำให้เกิดพื้นที่ของวัยรุ่นที่เปลี่ยนแปลงไปในแต่ละยุคสมัยขึ้นได้จริง คำว่า เมืองปราบเซียน คงจะไม่ใช่นิยามของเมืองเชียงใหม่อีกต่อไป

จังหวัดเชียงใหม่ – นอกจากจะขึ้นชื่อว่าเป็นเมืองแห่งการท่องเที่ยว ที่ใหญ่เป็นอันดับต้นๆของประเทศ ซึ่งทำให้ได้รับการสนับสนุนในการพัฒนาเมืองในการรองรับนักท่องเที่ยวเสมอมา แต่สิ่งหนึ่งที่เมืองเชียงใหม่เป็นมากกว่าเมืองท่องเที่ยว คือ เมืองแห่งการศึกษา มีมหาวิทยาลัย ขนาดใหญ่ถึง 4 แห่ง คือ ม.เชียงใหม่ มทร.ล้านนา ม. ราชภัฎเชียงใหม่ และ ม.แม่โจ้จากการศึกษาสถิตินักศึกษา ม เชียงใหม่ พบว่ากว่า 60% เมื่อเทียบกับจำนวนนักศึกษาทั้งหมด เป็นนักศึกษาจากต่างจังหวัดซึ่งเป็นสิ่งที่ยืนยันได้ถึงการเป็นเมืองที่เต็มไปด้วยประชากรในช่วยวัยรุ่นที่มาพร้อมกับความแตกต่างหลายหลายทางวัฒนธรรมมากมายสำหรับเมืองเชียงใหม่ มีพื้นที่ไหนบ้างรองรับกลุ่มคนเหล่านี้ นอกจากอาคารพักอาศัยและร้านค้าที่เติบโตอยู่รายล้อมตามบริเวณ

ตำแหน่งที่ตั้งของสถานศึกษา

ตัวตนของวัยรุ่นเชียงใหม่บนกระแสความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ในยุคดิจิตอล อาจไม่ได้สอดคล้องสิ่งที่เมืองเชียงใหม่ใช้เป็นจุดขายของเมืองที่ทำให้การออกแบบพื้นที่เมืองมุ่งเน้นไปกับการสร้างการเป็นเมืองแห่งขนบธรรมเนียมประเพณีวัฒนธรรมและเน้นรองรับแต่นักท่องเที่ยวที่นำมาซึ่งรายได้มหาศาล ทำให้ขาดการคำนึงถึงการออกแบบพื้นที่สำหรับกลุ่มวัยรุ่นที่มีมากมายในเมืองนี้ ทั้งนี้ในสภาวะการแพร่ระบาดของโควิดในขณะนี้ ประชากรในกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่เหลืออยู่ที่ทำให้เศรษฐกิจในเชียงใหม่ยังไม่หยุดนิ่ง

วัยรุ่นเชียงใหม่ในปัจจุบันคือ GEN Z – ผู้มีอายุตั้งแต่ 10-24 ปี (คนที่เกิดระหว่างปี พ.ศ. 2538 – 2552) พวกเขาให้ความสำคัญกับความปลอดภัย ความหลากหลาย ความเป็นอิสระและการแสดงตัวตน หากแต่พื้นที่ทางเศรษฐกิจส่วนใหญ่ มุ่งเน้นผลประโยชน์ทางการตลาดเป็นหลักขาดการออกแบบพื้นที่สาธารณะสำหรับผู้คนที่ทำให้เชื่อมต่อหรือมีปฏิสัมพันธ์กัน เช่นในกรณีศึกษาย่านนิมมานเหมินท์ ซึ่งเป็นย่านที่ทำเลที่ตั้งอยู่ติดกับทั้งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่และมทร ล้านนา ย่านที่เต็มไปด้วยที่พักอาศัย ร้านอาหารเครื่องดื่ม สถานบันเทิง ห้างสรรพสินค้า และ Community Area ที่ในส่วนของเอกชนที่เน้นกลุ่มลูกค้าวัยรุ่น

ร้านส่วนใหญ่เน้นการออกแบบให้คนมาเที่ยวและถ่ายภาพลงโซเชียล แต่มีความแห้งแล้งในเชิงของการใช้งานจริงของผู้คนในพื้นที่ภายนอก การขาดพื้นที่สาธารณะ ลานกิจกรรม สังเกตได้จากการที่เราแทบจะนึกไม่ออกว่ามีที่ไหนให้นั่งพักได้ที่ไม่ใช่การเดินเข้าร้านค้าไหนซักร้านนึง การมีทางเท้าที่มีแต่สิ่งกีดขวาง ขาดร่มเงา และขนส่งมวลชนที่ไม่สะดวกสบายมากพอที่จะทำให้คนเลือกใช้มากกว่ายานพาหนะส่วนตัวที่นำมาซึ่งการแย่งชิงที่จอดรถที่จำกัด ความล้มเหลวของการวางผังเมือง ที่ไม่ได้คำนึงถึงคุณภาพชีวิตและพฤติกรรมของคนในพื้นที่ทำให้ย่านนี้เปลี่ยนไปตามความต้องการของนักธุรกิจที่มีการนำวิธีการคิดแบบ Bangkok Syndrome เข้ามาใช้ซึ่งดูเหมือนว่าจะตอบโจทย์กับนักท่องเที่ยววัยรุ่นทั้งชาวไทยและต่างประเทศ โดยเฉพาะชาวจีน จนเมื่อเกิดสภาวะโควิดที่เหลือแต่การบริโภคภายใน จึงทำให้เห็นภาพความซบเซาของย่านนี้อย่างเห็นได้ชัด เพราะไม่ได้ออกแบบเพื่อเป็นพื้นที่ของวัยรุ่นเชียงใหม่อย่างแท้จริง

การขาดแคลนพื้นที่สาธารณะที่เหมาะสมและพื้นที่สัญจรเชื่อมต่อที่ดีมีผลต่อพฤติกรรมการใช้ชีวิตของกลุ่มวัยรุ่น ในสภาวะที่มีทางเลือกในการหากิจกรรมทางโซเชียลมีมากมาย ทำให้หลายคนเลือกที่จะอยู่ในพื้นที่ในช่องทางโซเชียลของตัวเองมากกว่า การออกมาใช้ชีวิต การแสดงตัวตนในพื้นที่และสังคมภายนอก

การใช้ชีวิตในสังคมภายนอกมหาวิทยาลัยของวัยรุ่น – ในกระแสสังคมปัจจุบัน มักจะนัดกันตามสถานที่เฉพาะ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคาเฟ่ต่างๆที่มีอยู่ทั่วเมือง กิจกรรมที่เกิดขึ้นค่อนข้างเป็นส่วนตัวไม่ได้มีปฏิสัมพันธ์กันกับคนรอบข้างอื่นหรือสิ่งรอบตัวมากนัก เช่น ทำงาน อ่านหนังสือ ถ่ายรูป เล่นมือถือ หรือพูดคุยกับกลุ่มเพื่อนเท่านั้น ทำให้เกิดสังคมที่คับแคบและจำกัด โดยผลสำรวจพฤติกรรมการใช้อินเตอร์เน็ตของคนไทยในปี 2559 โดย ETDA ระบุจำนวนชั่วโมงการใช้อินเตอร์เน็ตเฉลี่ยของ Gen Z อยู่ที่ 40.2 ชั่วโมง/สัปดาห์ ซึ่งสื่อ Social Media ที่จังหวัดเชียงใหม่มีการใช้มากที่สุดคือ Facebook มีการใช้งานถึง860,000 คน รองจากกรุงเทพฯ 1,540,000 คน

การแสดงตัวตนของวัยรุ่นส่วนใหญ่ที่ควรจะถูกสนับสนุนด้วยการแสดงออกผ่านพื้นที่ทางสาธารณะ แต่หลายคนกลับอยู่แค่ในโลกโซเชียล บางทีอาจจะไม่ใช่สิ่งที่วัยรุ่นเลือกด้วยตัวเองทั้งหมด เพียงแต่อาจจะเป็นเพราะเมืองไม่ได้ออกแบบพื้นที่และเปิดโอกาสให้มากพอ ?

ขอบคุณข้อมูลในการอ้างอิงจาก [เว็บไซต์] https://www3.reg.cmu.ac.th, https://datacenter.rmutl.ac.th/, http://www.plan.cmru.ac.th/, http://www.education.mju.ac.th/, https://www.etda.or.th/th/, [บทความและวิจัย] รัฐ ธุรกิจ ประชาสังคม และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น : กรณีศึกษาย่านนิมมานเหมินท์ จังหวัดเชียงใหม่ โดย ปฐวี โชติอนันต์, เรื่องของ “ตัวตน” บนโลกของเว็บไซต์โซเชียลเน็ตเวิร์ก:ขอบเขตของ “ตัวตนที่ปรารถนา” และ “ตัวตนที่เป็นจริง”โดย พรรณวดี ประยงค์, วิวัฒนาการเชิงอัตลักษณ์ในย่านนิมมานเหมินท์ โดย กฤดชณน จงบริรักษ์, พฤติกรรมการใช้สมาร์ทโฟนกับสังคมก้มหน้า : กรณีศึกษานักศึกษาระดับอุดมศึกษาในจังหวัดเชียงใหม่ โดย เฉลิมพงษ์ จันทร์สุขา