ในปี1961 ที่นิวยอร์คประเทศสหรัฐอเมริกาเกิดกฎหมายอาคารว่าด้วย ‘สัดส่วนพื้นที่อาคารและพื้นที่ว่างปราศจากสิ่งปกคลุม’ (Floor area ratio/Open Space) กล่าวคือ หากเจ้าของตึกที่ยอมเว้นที่ว่างบนที่ดินไว้มาก ก็จะสร้างอาคารได้หลายชั้น ก่อเกิดรายได้ยิ่งๆขึ้นไปอีก ซึ่งกฎนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้แสงแดดและลมเข้าถึงพื้นที่โดยรอบอาคาร และจุดนี้เองที่เป็นโอกาสปั้นแต่งพื้นที่ว่างดังกล่าวให้เป็น พื้นที่สาธารณะที่ครอบครองโดยเอกชน ซึ่งรู้จักกันในชื่อ Privately Owned Public Space หรือย่อเก๋ๆว่า #POPS นั่นเอง ในเวลาต่อมาแนวคิดนี้จึงแพร่หลายไปในเมืองใหญ่ทั่วโลก อย่างอัมสเตอร์ดัม กรุงโซล บรัสเซลส์ สิงคโปร์ เป็นต้น
สำหรับเชียงใหม่นั้น หลายคนอาจจะนึกถึงลานกว้างตามห้างสรรพสินค้าที่ผู้คนไปเล่นสเก็ตบอร์ด พลาซ่านั่งรับประทานอาหารตกแต่งสวยงาม ลานโล่งสำหรับจอดรถหรือจัดคอนเสิร์ตที่ใครๆก็เข้าไปใช้ได้ แต่เราอาจลืมไปว่า พื้นที่ ‘เกือบ’สาธารณะนั้น เป็นของเอกชนแบบไม่มีกฎหมาย POPS มารองรับเฉกเช่นประเทศอื่นๆ เอกชนจะปิดไม่ให้เข้าใช้พื้นที่เมื่อไหร่ก็ได้ กรณีนี้เรียกว่า พื้นที่สาธารณะเทียม (Pseudo-Public Space : PPS)
ระหว่างที่เราเฝ้ารอให้เกิดกฎหมาย POPS ‘เชียงใหม่ฉันจะดูแลเธอ’ขอชวนมาฝันถึงการสร้างพื้นที่สาธารณะรูปแบบใหม่ ที่วันหนึ่งอาจเกิดขึ้นจริงในเมืองเชียงใหม่ของเราไปด้วยกัน
Source
https://www1.nyc.gov/site/planning/about/press-releases/pr-20210615.page
https://www1.nyc.gov/site/planning/plans/pops/pops.page
https://tomorn.co/2019/02/07/pops/