พลังของมนุษย์ย้ายถิ่น โครงข่ายขับเคลื่อนโลก

นวัตกรรมทั้งหลายที่เปลี่ยนแปลงโลก ล้วนเกิดเป็นผลพวงของการอพยพย้ายถิ่น

iPhone รถTesla วัคซีนโควิด mRNA คือปรากฎการณ์ที่เกิดจากการอพยพย้ายถิ่น
ในอเมริกา บริษัทใหญ่โตกว่าห้าร้อยบริษัท ถูกก่อตั้งโดยผู้อพยพถึง 45%
Startup มูลค่ามากกว่า 1 พันล้านดอลลาร์มีผู้ร่วมก่อตั้งเป็นผู้อพยพอย่างน้อยหนึ่งราย
ผู้ย้ายถิ่นฐานกว่า 3 ล้านคนกลายเป็นผู้ประกอบการและสร้างงานกว่า 8 ล้านตำแหน่ง

ผู้ข้ามเส้นเขตแดนมีแนวโน้มสร้างการเติบโตให้ทั้งปลายทางและถิ่นฐานเดิม สร้างการแลกเปลี่ยนทรัพยากรระหว่างสองพื้นที่ และการผสมผสานระหว่างผู้ย้ายถิ่นกับคนท้องถิ่นก่อให้เกิดความหลากหลายที่ส่งผลต่อการเติบโตของเมือง นวัตกรรม วัฒนธรรม เศรษฐกิจและสังคม

เชียงใหม่เอง ในช่วงปี 2562-2563 กลุ่มแรงงานในธุรกิจบริการทั้งโรงแรม ภัตตาคารและร้านอาหาร และค้าปลีก ย้ายกลับถิ่นฐานเดิมไปพึ่งภาคการเกษตร ในขณะที่มีประชากรอีกกลุ่มเพิ่มเข้ามาในเชียงใหม่

#คนเชียงใหม่ใหม่ เป็นกลุ่มคนย้ายถิ่นทั้งไทยเทศ ประกอบจากคนหลากหลาย เช่น คนทำงานออนไลน์ (Digital Nomads) ผู้ประกอบการต่างชาติ (Expats) ไปจนถึงคนรุ่นใหม่ (Young Generations) ที่โดนปัจจัยดึงดูดเช่น ค่าครองชีพ ความเร็วอินเตอร์เนท ความรุ่มรวยทางวัฒนธรรม กลุ่มสังคม โอกาสทางธุรกิจ ฯลฯ อย่างไรก็ตามก็มีแรงผลักดันให้ย้ายออกเช่นกัน จากปัญหาหมอกควัน คมนาคมและความคล่องตัวทางเศรษฐกิจ

ณ วันที่เส้นเขตแดนทั่วโลกเลือนเข้าหากัน เชียงใหม่ในฐานะเมืองที่มีผู้คนเข้าออกติดอันดับสามของประเทศไทย อาจลองพิจารณาว่าผู้คนที่อพยพย้ายถิ่นนี้ จะส่งผลอย่างไรต่อเมืองในภาพใหญ่บ้าง?

1. ผู้อพยพเพิ่มความหลากหลายของรสนิยมและชี้ช่องความต้องการของผู้บริโภค

เรื่องราวของ Richard Montañez ภารโรงบริษัท Frito-Lay ผู้อพยพชาวเม็กซิกัน แสดงให้เห็นอย่างชัดเจน เมื่อเครื่องจักรในโรงงานผลิตขนมชีโตสรสชีสพัง Richard หอบขนมเปล่าๆกลับบ้านและลองเหยาะผงเครื่องเทศแบบเม็กซิกันลงไป เขาตระหนักถึงโอกาสในการสร้างผลิตภัณฑ์ที่จะดึงดูดกลุ่มประชากรชาวลาตินแบบเดียวกับเขา จึงเสนอความคิดของเขาต่อ CEO ในเวลาต่อมา ขนม Flamin’ Hot Cheetos ที่ขายดีที่สุดจึงกำเนิดขึ้น สร้างรายได้มูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ให้กับบริษัทและเป็นต้นแบบของความหลากหลายทางวัฒนธรรมผ่านผลิตภัณฑ์

2. สร้างนวัตกรรมที่ถูกมองข้ามไปในประเทศต้นทาง

อุตสาหกรรมไอทีในอินเดียเป็นหนี้บุญคุณชาวอินเดียที่สำเร็จการศึกษาจากต่างชาติและกลับมาพัฒนาบ้านเกิด เช่น Faqir Chand Kohli หลังจากเขาจบ MIT และทำงานในบอสตัน นิวยอร์กและแคนาดา ก็กลับมาสร้างบริษัท Tata Consultancy Services ซึ่งให้บริการด้านไอทีที่ใหญ่ที่สุดของอินเดีย หรือระบบหนังสือเดินทางดิจิทัลสากล Aadhaar ที่ขับเคลื่อนบริการภาครัฐและภาคเอกชนของอินเดียเองก็ถูกสร้างขึ้นโดยทีมงานอินเดียที่กลับมาจาก Silicon Valley ภายใต้การนำโครงการของ Nandan Nilekani ผู้ร่วมก่อตั้ง Infosys

เรื่องราวที่คล้ายคลึงกันนี้มีอยู่มากมายเกี่ยวกับอุตสาหกรรมเทคโนโลยีในประเทศอื่นๆ เช่น อียิปต์และไนจีเรีย นอกจากนี้ยังเกิดขึ้นในอุตสาหกรรมยานยนต์ อย่างตุรกีและเวียดนามเช่นกัน

3. ลดต้นทุนการทำธุรกรรมระหว่างพื้นที่

แรงงานย้ายถิ่น สร้างช่องทางสองประเภท ทางแรกคือ ข้อมูลที่ช่วยให้สามารถเคลื่อนย้ายสินค้าและการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศได้มากขึ้น ทางที่สองคือการเผยแพร่ความรู้และเทคโนโลยีที่ส่งเสริมการผลิตนั่นเอง

4. ผลักดันค่าแรงให้สูงขึ้นทั้งกับแรงงานย้ายถิ่นและแรงงานท้องถิ่น

เพราะทีมที่มีความหลากหลายมากกว่ามักจะมีประสิทธิผลมากกว่า แม้ว่าจะมีกรณีการแข่งขันกันระหว่างแรงงานพื้นเมืองและผู้อพยพในแรงงานระดับล่างอยู่บ้าง แต่ผลกระทบโดยรวมต่อการสร้างงานและระดับค่าจ้างมีแนวโน้มในเชิงบวก

ตามทฤษฎีแล้ว หากเปิดเสรีแรงงาน โลกอาจเห็นผลผลิตทางเศรษฐกิจทั่วโลกเพิ่มขึ้นสูงถึง 95 ล้านล้านดอลลาร์ต่อปี หรือเทียบเท่ากับขนาดเศรษฐกิจโลกในปัจจุบันเลยทีเดียว และนี่คือเหตุผลที่ประเทศต่างๆพยายามยกเลิกข้อจำกัดทางการค้า

5. ปัญหาความไม่สมดุลในการย้ายถิ่นของแรงงานที่มีทักษะ

ถึงแม้การย้ายถิ่นจะสร้างประโยชน์หลายประการ แต่ก็พบว่าแรงงานที่มีทักษะกว่าครึ่งของโลก กระจุกตัวอยู่ในห้าประเทศ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร เยอรมนี แคนาดา และออสเตรเลีย และมีประมาณ 25 ประเทศที่มีแรงงานทักษะสูงเกินดุลในขณะที่อย่างน้อย 64 ประเทศมีการขาดดุล ที่น่าสนใจคือ บางประเทศ เช่น บราซิล, จีน, ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ดึงดูดผู้มีทักษะได้น้อยกว่าที่คาดไว้มาก เมื่อพิจารณาจากระดับการพัฒนาของพวกเขา

6. กระตุ้นการลงทุนด้านการศึกษา

ในปี 2020 เพียงปีเดียว แรงงานข้ามชาติส่งเงินกลับบ้าน 660 พันล้านดอลลาร์ เงินเหล่านี้ส่งผลในการลงทุนด้านการศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้หญิง ยิ่งไปกว่านั้น ผู้ย้ายถิ่นที่ประสบความสำเร็จมักเป็นแบบอย่างแสดงให้เห็นถึงคุณค่าของความรู้ กระตุ้นให้ครอบครัวและบุคคลต่างๆ ลงทุนอย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้นในการเรียน ซึ่งนำไปสู่การสร้างประชากรที่มีทักษะ ซึ่งจะส่งผลให้การเติบโตทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น

7. ส่งเสริมบรรทัดฐานประชาธิปไตยในประเทศต้นทางและปลายทาง

การย้ายถิ่นสะท้อนถึงเสรีภาพที่จะปฏิเสธสลากชีวิต และผู้ที่ลงคะแนนเสียงด้วยเท้าสามารถท้าทายอำนาจของรัฐมากกว่า สิ่งนี้อธิบายได้ว่าเหตุใดประเทศต่างๆ จึงลังเลที่จะเปิดเสรีแก่ผู้อพยพมากกว่าเปิดเสรีการค้า

Zahra Hankir ผู้เขียนหนังสือ Our Women on the Ground: Essays by Arab Women Reporting from the Arab World เกิดในเลบานอน เธอเข้ารับการศึกษาจากประเทศที่มีอัตราการมีส่วนร่วมในระบอบประชาธิปไตยและความเท่าเทียมทางเพศที่สูงกว่าเลบานอนอย่างอังกฤษและอเมริกา เธอถูกมองว่าเป็นหนึ่งในผู้เรียกร้องสิทธิสตรีในยุคแรกๆซึ่งสร้างผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อค่านิยมในประเทศต้นทาง รวมถึงสร้างความตระหนักรู้ถึงความเหลื่อมล้ำแก่ประเทศปลายทางเช่นกัน

จากที่กล่าวมา ผู้อพยพย้ายถิ่นไม่เพียงเพิ่มผลิตภาพและนวัตกรรมให้กับทั้งถิ่นฐานเดิมและปลายทาง แต่ยังทำให้โลกดีขึ้นจากการตระหนักถึงความเป็นพลเมืองโลกของตน (Global Citizenship) เช่นผู้สร้างแบรนด์ Patagonia ซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี 1973 ด้วยเจตนาที่ชัดเจนในการปกป้องสิ่งแวดล้อม หรือTeslaที่ตั้งใจสร้างระบบสัญจรด้วยพลังงานสะอาด

เป็นไปได้ไหม หากวันหนึ่งเราจะเห็นผู้นำประเทศวางแผนเชื่อมโยงโลกเข้าด้วยกัน สร้างการพึ่งพาซึ่งกันและกัน สร้างผลประโยชน์ร่วมกัน เพื่อเชื่อมโยงทั้งคุณค่าทางเศรษฐกิจและคุณค่าของมนุษย์

เป็นไปได้ไหม ที่ภาครัฐบาลและภาคธุรกิจของเชียงใหม่เองจะกำหนดทิศทางให้ #คนเชียงใหม่ใหม่ ที่ย้ายถิ่นมา ได้มีส่วนร่วมที่แท้จริง มิใช่เพียงในแง่เศรษฐกิจ แต่เป็นการสร้างแรงกระเพื่อมจากเครือข่ายรอบโลก ทำให้สังคมมีพลวัตมากขึ้นเพื่อประโยชน์ของทุกคน

“ผู้คนไม่ได้ย้ายจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่ง แต่พวกเขาเปรียบเสมือนสะพานเชื่อมโลกเข้าด้วยกัน”

References
https://www.bcg.com/publications/2021/how-global-migration-drives-innovation
https://sites.google.com/site/prachakrlaeakhunphaphchiwit/kar-peliynpaelng-prachakr-population-change-1?tmpl=%2Fsystem%2Fapp%2Ftemplates%2Fprint%2F&showPrintDialog=1
https://www.bot.or.th/Thai/ResearchAndPublications/articles/Pages/Article_25May2021-2.aspx
https://dollarflightclub.com/digital_nomad_guides/best-cities-for-digital-nomads-to-work-remotely/