ปรับเปลี่ยนทางเท้าและขนส่งให้ดีกว่าเดิม

อ้างอิงจาก Institute for Transportation & Development Policy และ UN Habitat กล่าวว่า เมืองที่ดีเกิดขึ้นได้จากองค์ประกอบซึ่งออกแบบมาตอบสนองผู้ใช้งานทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็น ทางเดินเท้า จุดข้ามถนน สี่แยกไฟแดง ฯลฯ ลองมาดูตัวอย่างการปรับเปลี่ยนที่ “เชียงใหม่ ฉันจะดูแลเธอ” เชื่อมั่นว่าจะทำให้เชียงใหม่ของเรา ‘น่าอยู่’ มากยิ่งขึ้นไปอีก

“เชียงใหม่ ฉันจะดูแลเธอ” คือ การสร้างกลไกของเมืองเชียงใหม่ ที่ต้องการเชื่อมโยงภาคประชาชน ผู้คนที่รักและห่วงใยเชียงใหม่ในฐานะ “Active citizen” เพื่อสร้างความคิดเห็นและพัฒนาไปเป็นข้อมูลภาคประชาชน เพื่อการออกแบบแผนเชิงยุทธศาสตร์ (strategic plan) และผังออกแบบเชิงแนวคิด (conceptual design plan) สำหรับเมืองที่มาจากภาคประชาชนอย่างแท้จริง

การจัดพื้นที่ทางเท้า (Zoning System)

ทางเท้าที่ดีต้องรองรับการเดินได้อย่างต่อเนื่อง จัดสรรเป็นสามส่วนคือ

  1. พื้นที่หน้าอาคาร (Frontage Zone)
  2. พื้นที่คนสัญจร (Pedestrian Zone)
  3. พื้นที่สิ่งกีดขวาง (Furniture Zone)

แม้ทางเท้าเชียงใหม่หลายจุดคับแคบ แต่การเคลื่อนย้ายสิ่งกีดขวางให้ตั้งอยู่ในแนวเดียวกันก็สามารถยกระดับการเดินเท้าให้ดีขึ้นได้ โดยเรามีผู้ดูแลร่วมกันหลายฝ่าย ได้แก่

  • พื้นผิวทางเท้า > กรมทางหลวง, เทศบาลนครเชียงใหม่
  • เสาไฟฟ้า ระบบตู้ไฟฟ้า > การไฟฟ้า
  • เครื่องหมายจราจร > กรมทางหลวง
  • สายสื่อสาร > บริษัทโทรคมนาคม อาทิเช่น TOT, TRUE, CAT
  • ตู้ไปรษณีย์ > บริษัทไปรษณีย์ไทย
  • ป้ายรถเมล์ > บริษัท รีเจียนนอล ทรานซิท โคเปอร์เรชั่น จำกัด
  • ป้ายโฆษณา > บริษัทเอกชน, เทศบาลนครเชียงใหม่
  • ต้นไม้ > เทศบาลนครเชียงใหม่

ในบางพื้นที่ของประเทศไทยสามารถพัฒนาทางเท้าผ่านวิธีข้างต้น โดยประสานหน่วยงานเหล่านี้โยกย้ายสิ่งกีดขวางอยู่ในแนวเดียวกันสำเร็จด้วยดี และเราเชื่อมั่นว่าหากร่วมมือกันเชียงใหม่ก็เกิดขึ้นได้

ถนนร่วมทางเท้า (Shared Space, Naked Street)

เป็นวิธีการแบ่งปันพื้นที่ถนนกับคน ถูกริ่เริ่มโดย Hans Monderman วิศวกรการจราจรชาวดัตซ์ และประเทศญี่ปุ่นได้รับมาปรับจนเป็นแนวทางของตนเองเพื่อใช้สำหรับถนนที่มีขนาดเล็ก

  1. คนมีทางเท้าให้เดิน
  2. รถเข้าถึงและหลบหลีกกันได้
  3. ห้ามจอดรถข้างทาง
  4. ปูท่อระบายน้ำผิวเรียบ
  5. จำกัดความเร็วที่ 30 km/hr

เชียงใหม่เองก็สามารถพัฒนาถนนรูปแบบเดียวกันได้ อย่างไรก็ตาม การที่ทางเท้าสูงในระดับเดียวกับถนน ต้องมาพร้อมกับวินัยจราจรและการบังคับใช้กฎหมายที่เข้มงวด เพื่อป้องกันอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นได้

ไร้ขั้น (Stepless)

ทางเท้าที่เดินได้ยังไม่เพียงพอ การเดินที่ดีควรรองรับทุกคนในสังคม (Universal Design) โดยเฉพาะต้องรองรับกลุ่มคนที่อ่อนแอที่สุดของเมือง เช่น ผู้สูงวัย ผู้ใช้วีลแชร์ ผู้พิการ ดังนั้นสำหรับส่วนทางเข้าที่ดินหรืออาคาร จึงกำหนดให้มีลักษณะดังนี้

  1. มีระดับความสูงคงที่
  2. ความกว้างไม่ต่ำกว่า 1.2 เมตร : ผู้ใช้วีลแชร์สามารถสัญจรผ่านด้วยความปลอดภัย
  3. ความลาดชัน 1:5 (*สำหรับยานพาหนะเท่านั้น **วีลแชร์ใช้ความลาดชัน 1:12)
  4. วัสดุที่คงทนรองรับการสัญจรยานพาหนะได้ดี
  5. มีทางเดินสำหรับผู้พิการทางสายตา

สะพานลอย หรือ ทางม้าลาย

เจตนาตั้งต้นของการสร้างสะพานลอย เพื่อให้เพิ่มความเร็วจราจรได้โดยคนข้ามถนนอย่างปลอดภัย แต่ปรากฎว่าสิ่งอำนวยความสะดวกที่หวังว่าจะสร้างประโยชน์ให้ทุกฝ่าย กลับสร้างปัญหารูปแบบอื่น ดังนี้

  1. สิ้นเปลือง : สะพานลอยใช้งบประมาณมากถึง 20เท่าของทางข้ามบนผิวถนน
  2. ทางอ้อม : ธรรมชาติมนุษย์มักหาเส้นทางสั้นที่สุด สะพานลอยทำให้ใช้เวลานานขึ้น
  3. ไม่ครอบคลุม : ผู้พิการ คนที่มีสัมภาระ บุคคลที่ใช้รถเข็นของหรือรถเข็นเด็ก
  4. กีดขวาง : สะพานลอยใช้พื้นที่ทางเท้า
  5. อาชญากรรม : สะพานลอยเพิ่มสถิติล่วงละเมิด โดยเฉพาะช่วงเวลากลางคืน

ทางออกจึงไม่ใช่การสร้างสะพานลอย แต่เป็นการทำให้ผู้ขับขี่จอดรถนิ่งสนิททุกครั้งเมื่อมีคนข้ามทางม้าลาย เพื่อที่วันหนึ่งเราจะได้ข้ามถนนอย่างสบายใจโดยไม่ต้องหันมองทางซ้ายและวิ่งผ่านอย่างรีบเร่งอีกต่อไป

รถสาธารณะที่เราสามารถทยอยเปลี่ยนเพื่อรองรับวันที่เราเดินหน้าเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มตัว

“รถสาธารณะชานต่ำ Non-Step Bus/Low Floor” รถที่เมื่อจอดสนิท ระดับความสูงจะลดต่ำลงมาเทียบเท่าขอบถนน เพื่อให้ผู้สูงอายุ เด็ก ผู้ใช้รถเข็นเข้าสู่ตัวรถได้อย่างสะดวกสบาย พร้อมอุปกรณ์สำหรับล็อคล้อรถเข็น

“รถสาธารณะแบบไร้ทางต่างระดับ Full Flat Bus”รถที่รื้อถอนขั้นบันไดตรงทางเดินด้านหลังตัวรถ ลดสิ่งกีดขวาง ผู้สูงอายุ หรือผู้ใช้รถสามารถเคลื่อนตัวไปทางด้านหลังได้สะดวกขึ้น พร้อมๆกับช่วยลดความหนาแน่นทางด้านหน้ารถ

ในวันหนึ่ง พ่อแม่ของเราจะชราภาพและเคลื่อนไหวลำบากในวันหนึ่ง ลูกของเราจะต้องการพื้นที่ปลอดภัยในวันหนึ่ง เราจะจากไป แล้วอนาคตแบบไหน ที่เราอยากจะสร้างไว้ให้สำหรับลูกหลานของเรา

References
https://unhabitat.org/sites/default/files/2020/06/streets-for-walking-and-cycling.pdf
https://www.reinventingtransport.org/2010/07/did-japanese-invent-shared-space.html
https://www.kotsu.metro.tokyo.jp/thai/news/2018/20181214_8366.html

Photograph Credits
https://www.reinventingtransport.org/2010/07/did-japanese-invent-shared-space.html
https://www.accessible-japan.com/accessible-airport-bus-in-japan/
https://en.wikipedia.org/wiki/Low-floor_bus#/media/File:Lowfloorramp.jpg