พื้นที่สีเขียวไม่ได้หมายถึงแค่ผืนหญ้า แต่พื้นที่สีเขียวนั้นหมายรวมไปถึงภูมิทัศน์ทางธรรมชาติอื่นๆ ทั้งลำธาร ลำน้ำ ทางดิน หินทราย มีคุณค่าต่อคนเมืองในฐานะเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจของทุกคน ทุกวัย ทุกชีวิต ลดทอนความร้อน ทำหน้าที่เป็นปอดของเมืองและช่วยดูดซับมลพิษทางอากาศที่เกิดจากการจราจร
เชียงใหม่เรามีศักยภาพของธรรมชาติมากมาย แต่คนเมืองอย่างเรามีพื้นที่สีเขียวในละแวกบ้านที่คนทั่วไปสามารถเข้าถึงในฐานะพื้นที่สาธารณะมากแค่ไหน!?
จากข้อมูลปีพ.ศ.2563 เราพบว่าจำนวนพื้นที่สีเขียวในความรับผิดชอบของเทศบาลนครเชียงใหม่เมื่อคิดเฉลี่ยต่อคนในเขตอำเภอเมืองเชียงใหม่นั้นมีเพียง 1.5 ตร.ม.ต่อคน ซึ่งไม่เพียงพอเมื่อคิดตามเกณฑ์ขององค์การอนามัยโลกซึ่งแนะนำให้เมืองมีพื้นที่สีเขียว เฉลี่ย 9 ตร.ม.ต่อคน และนอกจากนี้การให้บริการพื้นที่สีเขียวไม่ได้ครอบคลุมคนอยู่อาศัยในระยะการเข้าถึงที่เหมาะสมและเป็นจริง เพราะการวิเคราะห์ในเชิงพื้นที่สีเขียวในเมืองไม่ใช่หมายถึงแค่ปริมาณเฉลี่ยต่อคนเท่านั้น แต่พื้นที่สีเขียวในเมืองจะต้องให้คนเมืองนั้นสามารถเข้าถึงได้ในรัศมี 10 กม. หรือในระดับชุมชนต้องมีพื้นที่สีเขียวที่คนเข้าถึงได้ในรัศมี 500 เมตร ตามข้อมูลจากสำนักผังเมือง
ซึ่งปรากฏการณ์เมืองต่อความต้องการพื้นที่สีเขียวที่เกิดขึ้น ในท่ามกลางการใช้ชีวิตในการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด19 ได้ทำให้ “อ่างแก้ว” หรือลานสังคีต เป็นที่หมายของการพักผ่อนของคนเมืองมากมาย ทั้งในมิติการออกกำลัง การพักผ่อน การจูงสัตว์เลี้ยงเดินเล่น การปิกนิก ซึ่งปรากฏการณ์อ่างแก้วฟีเวอร์นี้ ได้สะท้อนให้เราเห็นว่าคนเมืองต้องการพื้นที่สีเขียวในเมืองมากขนาดไหน และได้หันมามองไปรอบๆเมืองที่เราอยู่ ชุมชนละแวกบ้านที่เราอยู่ เพื่อทบทวนกันว่าพื้นที่สีเขียวในฐานะพื้นที่สาธารณะของเมืองนั้น เราควรจะมีการออกแบบอย่างไร?! เชียงใหม่ฉันจะดูแลเธอ ชวนมาถกและแนะนำพื้นที่สีเขียวคุณภาพของเมืองกันครับ